เปิดโอกาส-กลยุทธ์ ‘อุตสาหกรรมแบตเตอรี่’ ในอาเซียน
ส่องโอกาสและกลยุทธ์ของประเทศใน "อาเซียน" หลังจากภูมิภาคนี้ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและ "แบตเตอรี่" ระดับโลก
“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” กำลังเผชิญกับความท้าทายด้าน “ความมั่นคงทางพลังงาน” มากขึ้น เนื่องจากในภูมิภาคเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติได้น้อยลง และจำเป็นต้องพึ่งการนำเข้ามากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อรับมือกับปัญหานี้ จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านสู่ “พลังงานสะอาด” และจำเป็นต้องลงทุนในการกักเก็บพลังงานด้วย “แบตเตอรี่”
การสร้างความมั่นคงทางพลังงานกำลังกลายเป็นประเด็นสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย แม้ว่าภูมิภาคนี้กำลังเดินหน้าสู่อนาคตของพลังงานสะอาด แต่ขณะเดียวกันเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมกับความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจต้องทำให้พึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
“ก๊าซธรรมชาติ” เป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตไฟฟ้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2023 ก๊าซธรรมชาติคิดเป็นประมาณ 30% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นอันดับสองของแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาค รองจากถ่านหิน แต่การผลิตก๊าซในท้องถิ่นลดลงต่อเนื่องตั้งแต่กลางยุค 2010 ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น
หากแนวโน้มปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติสุทธิโดยเร็วที่สุดในปี 2025 และภายในปี 2045 การนำเข้าอาจเพิ่มขึ้นถึง 93% ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงาน
การกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่สามารถเป็นแนวทางป้องกันความเสี่ยงด้านก๊าซในอนาคตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ เนื่องจากสามารถใช้สนับสนุนและตอบสนอง เพื่อสร้างสมดุลให้กับเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันสำหรับการจ่ายไฟฟ้า
"อาเซียน" ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการผลิต "แบตเตอรี่"
เมื่อการผลิตพลังงานหมุนเวียนผันผวน ไม่ว่าจะเกินหรือต่ำกว่าความต้องการไฟฟ้า การกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ก็จะสามารถลดการพึ่งพาก๊าซนำเข้าของภูมิภาคนี้ ทั้งสำหรับพลังงานพื้นฐานและความยืดหยุ่นได้ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อความผันผวนของตลาดพลังงานโลกได้ ทำให้ความเป็นอิสระและความมั่นคงด้านพลังงานดีขึ้น
คำประกาศของผู้นำอาเซียนในเดือนพฤษภาคม 2023 แสดงให้เห็นถึงความพยายามร่วมกันในการส่งเสริมให้ภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแร่ธาตุที่สำคัญของแบตเตอรี่ เช่น นิกเกิล โคบอลต์ และแมงกานีสที่มีอยู่มากมาย สามารถดึงดูดอุตสาหกรรมมาลงทุนในภูมิภาคได้ ในขณะเดียวกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้กลายเป็น “เขตกันชน” ของยักษ์ใหญ่ในวงการรถไฟฟ้า
บริษัทใหญ่จากเกาหลี ญี่ปุ่น และสหรัฐกำลังย้ายห่วงโซ่อุปทานของตนไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อลดการพึ่งพาจีน ในขณะเดียวกันก็แสวงหากำไรจากต้นทุนแรงงานและการผลิตที่มีการแข่งขันกันในภูมิภาค ขณะที่บริษัทจีนกำลังย้ายซัพพลายเชนของตนไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน ซึ่งช่วยให้จีนสามารถลดความเสี่ยงภาษีการค้าสหรัฐได้
ปัจจุบันจีนได้เข้ามาลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย กัมพูชา มาเลเซีย และเวียดนาม เป็นจำนวนมากในปี 2023 ขณะเดียวกันก็นำเข้าแผงโซลาเซลล์จากสหรัฐมากกว่า 75% นอกจากนี้ ทั้งสหรัฐและจีนยังลงทุนในประเทศผู้ผลิตแร่ธาตุที่สำคัญ ทั้งในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตนิกเกิลรายใหญ่ที่สุดของโลก
สหรัฐกำลังพยายามแย่งชิงอำนาจของจีนในตลาดการแปรรูปนิกเกิลที่อินโดนีเซีย โดยเสนอทางเลือกการลงทุนต่าง ๆ ตั้งแต่ข้อตกลงการค้าเสรีแร่ธาตุที่สำคัญในวงจำกัด ไปจนถึงการเข้าร่วมกลุ่มหุ้นส่วนความมั่นคงทางแร่ (MSP) ซึ่งเป็นกรอบการทำงานที่มุ่งพัฒนาซัพพลายเชนแร่ธาตุที่สำคัญระหว่างสหรัฐและพันธมิตร
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจกลายเป็นตลาดที่น่าดึงดูดสำหรับผลิตภัณฑ์พลังงานสะอาดได้ หากจีนไม่สามารถบุกตลาดสหรัฐและจีนได้ เนื่องจากกำแพงภาษีศุลกากร อีกทั้งภาครัฐในภูมิภาคนี้ยังสร้างแรงจูงใจต่าง ๆ เพื่อช่วยเสริมศักยภาพของตลาดในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซียและไทยได้นำการยกเว้นภาษีอากรและนิติบุคคลนำเข้ามาใช้กับรถ EV ทำให้บริษัทรถไฟฟ้าสามารถเข้ามาทำส่วนแบ่งการตลาดในภูมิภาคได้
นโยบายแบตเตอรี่แต่ละประเทศ
จากการประชุมเทคโนโลยีแบตเตอรี่อาเซียน ครั้งที่ 2 (ABTC) ซึ่งเป็นความร่วมมือของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ทำให้เห็นถึงความท้าทายและนโยบายของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเกี่ยวกับการลงทุนด้านแบตเตอรี่
เพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุน และเปลี่ยนผ่านเข้าสู่พลังงานสีเขียวได้เร็วขึ้น ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องแสดงให้ว่า สามารถเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่เป็นกลางทางภูมิรัฐศาสตร์โดยปราศจากการครอบงำของมหาอำนาจ และมองหากการลงทุนจากนานาประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพานักลงทุนรายใดรายหนึ่งมากเกินไป อย่างเช่น อินโดนีเซียที่กำลังพยายามลดอำนาจของจีนในภาคการขุดและแปรรูปแร่ธาตุหายาก โดยร่วมมือกับประเทศอื่น เช่น เกาหลี
ความท้าทายอีกอย่างคือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องสร้างประโยชน์จากกระแสการลงทุนจากต่างประเทศ ให้มีมูลค่าในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านศักยภาพทางเทคโนโลยีในประเทศ ดังนั้นการสนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายฐานการผลิตในภูมิภาคในระยะยาว จึงกลายเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บริษัทผลิตยานยนต์ Proton ของมาเลเซียร่วมมือกับ Geely Auto ของจีน ทำให้ Geely Auto เข้าถึงตลาดในภูมิภาคได้ และให้บริษัทของจีนปรับปรุงผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีใหม่
ส่วนอินโดนีเซียได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นต่อการห้ามส่งออกนิกเกิลเพื่อกระตุ้นการลงทุนขั้นปลาย เช่น ในสินค้าตัวกลางนิกเกิลและการผลิตแบตเตอรี่ โดยมีมุมมองที่จะเป็นเจ้าของซัพพลายเชนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบองค์รวม
ขณะที่ฟิลิปปินส์กำลังมุ่งไปที่การสนับสนุนซัพพลายเชนทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การผลิตเซลล์แบตเตอรี่และส่วนประกอบต่าง ๆ ไปจนถึงการประกอบและรีไซเคิลแบตเตอรี่ ดังนั้นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบของภูมิภาคและขยายไปยังอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ แต่ก็ต้องระวังการลงทุนที่ไม่เป็นธรรมที่อาจเกิดขึ้นได้
ที่มา: East Asia Forum, IISS