ความเหลื่อมล้ำในไทย เปิดรายชื่อจังหวัดที่มีคนจนมากสุด 10 อันดับแรก
ในปี 2024 ความยากจนในไทยยังคงเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลายประการ เช่น ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ การเข้าถึงการศึกษา และการดูแลสุขภาพที่ไม่เท่าเทียม แม้ว่ารัฐบาลจะมีความพยายามลดความยากจน แต่พื้นที่ชนบทยังคงได้รับผลกระทบ
สัดส่วนคนจนในไทยน้อยลง
รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศ ฉบับล่าสุดประจำปี 2566 เผยแพร่เมื่อกันยายน 2567 ที่ผ่านมา โดยสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุสถานการณ์ความยากจนของประเทศไทยว่า มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มีคนจนทั้งสิ้นประมาณ 2.39 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจนร้อยละ 3.41 ของประชากรทั้งหมด ลดลงจากปี 2565 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 5.43 โดยเส้นความยากจนปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 3,043 บาทต่อคนต่อเดือน จากภาวะเงินเฟ้อชะลอตัว
ทั้งนี้ คาดว่าสาเหตุสําคัญของการปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์ความยากจนในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนแรงงานยากจนสูงที่สุด ประกอบกับโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565 ซึ่งเปิดโอกาสให้คนจน โดยเฉพาะผู้ที่เคยตกหล่นจากการลงทะเบียนรอบก่อนหน้า สามารถเข้าถึงบริการและสวัสดิการต่างๆ ของภาครัฐมากขึ้น
นอกจากนี้ หากพิจารณาในระดับครัวเรือนพบว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีครัวเรือนยากจนประมาณ 6.86 แสนครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 2.56 ของครัวเรือนทั้งหมด ลดลงจากประมาณ 1.12 ล้านครัวเรือนในปี 2565 โดยในพื้นที่นอกเขตเทศบาลมีสัดส่วนครัวเรือนยากจนสูงกว่าในพื้นที่เขตเทศบาลถึง 2.01 เท่า
อย่างไรก็ตาม หากต้องการแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน ควรให้ความสําคัญกับความเปราะบางของความยากจนหรือกลุ่มคนที่มีความเป็นอยู่ใกล้กับเส้นความยากจน (กลุ่มคนที่มีความเป็นอยู่มากกว่าหรือน้อยกว่าเส้นความยากจนเล็กน้อย) เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวมีโอกาสที่จะกลายเป็นคนจนได้ง่าย ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ย่อมส่งผลต่อความเป็นอยู่และศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระยะยาวเพราะไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างยั่งยืน
จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 อันดับแรก
- อันดับ 1 ปัตตานี สัดส่วน 23.36%
- อันดับ 2 นราธิวาส สัดส่วน 19.12%
- อันดับ 3 แม่ฮ่องสอน สัดส่วน 12.49%
- อันดับ 4 พัทลุง สัดส่วน 12.06%
- อันดับ 5 สตูล สัดส่วน 10.80%
- อันดับ 6 หนองบัวลําภู สัดส่วน 9.61%
- อันดับ 7 ตาก สัดส่วน 9.60%
- อันดับ 8 ประจวบคีรีขันธ์ สัดส่วน 9.49%
- อันดับ 9 ยะลา สัดส่วน 9.01%
- อันดับ 10 ตรัง สัดส่วน 8.70%
ปัตตานีและแม่ฮ่องสอนติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดต่อเนื่องกันอย่างน้อย 15 ปี สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความยากจนเรื้อรังในจังหวัดดังกล่าว นอกจากนี้ หากพิจารณาจาก 10 จังหวัดแรกที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดในปี 2566 จะพบว่า 5 ใน 10 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน ตาก และยะลา มักติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดในปีอื่นๆ ด้วย กล่าวคือ มีแนวโน้มเผชิญกับปัญหาความยากจนเรื้อรัง
งานเกษตรมีสัดส่วนคนยากจนสูง
เมื่อพิจารณากลุ่มที่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ พบว่า คนเปราะบางต่อความยากจนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระหรือเป็นลูกจ้างในภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนร้อยละ 21.12 ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง และร้อยละ 18.06 เป็นลูกจ้างเอกชน
ในกลุ่มที่เป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม 3 ใน 4 เป็นการปลูกข้าว ปลูกพืชยืนต้นอื่นๆ และการสนับสนุนการผลิตพืชผล ทําให้การประกอบอาชีพจําเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมเป็นสําคัญ และส่งผลให้ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศค่อนข้างสูง โดยเฉพาะปัญหาจากฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง ในพื้นที่ปลูกข้าวนาปีในช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูกและปริมาณน้ําที่อยู่ในระดับต่ำ
กล่าวได้ว่า ลักษณะของกลุ่มคนเปราะบางต่อความยากจนบ่งชี้ให้เห็นถึงสาเหตุเชิงโครงสร้างสําคัญ ที่นําไปสู่ความเสี่ยงต่อการกลายเป็นคนจน ซึ่งได้แก่ การอาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนมีระดับ การศึกษาต่ำ มีสมาชิกครัวเรือนอยู่ในวัยพึ่งพิงและไม่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจสูง และประกอบอาชีพ อยู่ในภาคเกษตรกรรมที่มีผลิตภาพต่ำทําให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ปัจจัยดังกล่าว ทําให้เกิดความเปราะบางทางเศรษฐกิจของครัวเรือนทั้งในปัจจุบันและอนาคต
เศรษฐกิจกระจุกตัวในตัวเมือง
ประชากรนอกเขตเทศบาลเผชิญกับภาวะยากจนในสัดส่วนที่สูงกว่าประชากรในเขตเทศบาล โดยสัดส่วนคนจนนอกเขตเทศบาลในปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 4.61 ลดลงจากปี 2565 ที่ร้อยละ 7.07 ขณะที่สัดส่วนคนจนในเขตเทศบาลอยู่ที่ร้อยละ 2.55 ลดลงจากร้อยละ 4.19 ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มสัดส่วนคนจนในระดับประเทศที่ลดลง
สาเหตุสําคัญประการหนึ่งที่ทําให้ประชากรนอกเขตเทศบาลมีภาวะยากจนในสัดส่วนที่สูงกว่า คือ การกระจุกตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเขตเทศบาล ทําให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรและบริการต่างๆ ได้น้อยกว่า
นอกจากนี้ สาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ ระบบขนส่งสาธารณะ ระบบสื่อสารโทรคมนาคม และน้ําประปา ในเขตเทศบาลมักมีประสิทธิภาพและครอบคลุมพื้นที่มากกว่า ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตเทศบาลดีกว่า และมีโอกาสพัฒนาตนเองได้มากกว่า
ที่มา : สศช.