จับตาฝุ่น PM2.5 อากาศปิด ฝุ่นระบายไม่ได้ เตรียมลดค่าโดยสาร-หนุน WFH ปี 2568

จับตาฝุ่น PM2.5 อากาศปิด ฝุ่นระบายไม่ได้ เตรียมลดค่าโดยสาร-หนุน WFH ปี 2568

ประเทศไทยกำลังเตรียมตัวรับมือกับมลพิษทางอากาศ PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยรัฐบาลไทยเห็นชอบ 6 แนวทางจัดการลดมลพิษทางอากาศปี 2568 เช่น ลดค่าโดยสารรถสาธารณะ เร่งรัดเปลี่ยนรถ ขสมก. เป็นรถไฟฟ้า มีนโยบายการ Work From Home เป็นต้น

ในปี 2024 ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างมากกับมลพิษทางอากาศ PM2.5 ระดับมลพิษทางอากาศของประเทศยังคงเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มีระดับสูงในโลก โดยตามข้อมูลจาก IQAir air quality index กรุงเทพมหานครมีความเข้มข้นของ PM2.5 สูงถึง 132 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) ณ วันที่ 30 มกราคม 2024 ซึ่งระดับนี้ถูกจัดอยู่ในระดับ "รุนแรง" และมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย

ในช่วงเวลาอันใกล้นี้ กำลังเริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาที่ฝุ่นละอองจะเริ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยเหตุนี้ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จึงจัดประชุม “การคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล และการเตรียมการรับมือในปี 2568" ณ ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) อาคารกรมควบคุมมลพิษ ในวันนี้ (21 ตุลาคม 2567) โดยมี นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และ ดร.ศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง ร่วมให้ข้อมูลรายละเอียด

ผลการประเมินจากกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงหลังวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีฝนที่ลดลง และจะมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาบริเวณภาคเหนือ
และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวโน้มที่ค่าฝุ่นละอองจะสูงขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 24-27 ตุลาคม 2567 ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวในพื้นที่จะมีสภาวะที่อากาศปิดส่งผลให้ฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิดไม่สามารถระบายออกจากพื้นที่ได้

ประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง สามารถติดตามสภานการณ์ได้จากแอปพลิเคชัน Air4Thai และแฟนเพจ ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) เพื่อรับทราบสถานการณ์ที่ถูกต้อง และนำไปใช้ประกอบการวางแผนการทำกิจกรรมกลางแจ้งได้อย่างเหมาะสม

กลไกบริหารจัดการ 3 ระดับ

"ปรีญาพร สุวรรณเกษ" อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และเตรียมรับมือสถานการณ์อย่างเข้มข้น พร้อมสื่อสารอย่างรวดเร็ว ทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัด พื้นที่เสี่ยงและช่วงเวลาวิกฤต

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงจัดทำ “มาตรการรับมือสถานการณ์ 
ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568” โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบมาตรการฯ และกลไกการบริหารจัดการ ในการประชุมเมื่อวันพุธที่ 16 ตุลาคม 2567 โดยจะขับเคลื่อนผ่านกลไกการบริหารจัดการ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับภาคหรือข้ามเขตป่าหรือเขตปกครอง และระดับจังหวัด

จับตาฝุ่น PM2.5 อากาศปิด ฝุ่นระบายไม่ได้ เตรียมลดค่าโดยสาร-หนุน WFH ปี 2568

6 แนวทางลด PM2.5 ปี 2568

1. ระยะเตรียมการ จัดทำแผนที่เสี่ยงการเผา Risk Map แผนปฏิบัติการจัดการไฟป่าตามห้วงเวลา แผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง ข้อมูลพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกเสี่ยงเผาและข้อมูลเกษตรกรรายจังหวัด

2. การจัดการไฟในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ โดยตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด/จุดเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ชุดดับไฟป่า บริหารจัดการเชื้อเพลิง ประกาศจำกัดการเข้าพื้นที่ป่าและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยง การใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชุมชนโดยไม่เผา รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมในที่ดินของรัฐ และมุ่งเน้นการเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

3. การจัดการไฟในพื้นที่เกษตร โดยประกาศขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้ไฟและบริหารจัดการไฟในพื้นที่เกษตรเท่าที่จำเป็นและมีการควบคุม ควบคุมอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงาน หากฝ่าฝืนถูกบังคับใช้กฎหมาย ตัดสิทธิความช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่ให้สิทธิหรือเพิกถอนสิทธิ ส.ป.ก./นิคมสหกรณ์ กับเกษตรกรที่ไม่ร่วมมือ รวมถึงช่วยเหลือเกษตรกรปรับรูปแบบการผลิต และออกมาตรการสิทธิและประโยชน์ให้เกษตรกรที่ไม่เผา

4. การควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง ออกประกาศห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าเขตเมืองช่วงวิกฤต สนับสนุนการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ มีนโยบายปรับลดอัตราค่าโดยสารรถสาธารณะ เร่งรัดเปลี่ยนรถ ขสมก. เป็นรถไฟฟ้า ตรวจจับรถยนต์ควันดำ รถบรรทุก พื้นที่ก่อสร้าง ผู้ทำผิดวินัยจราจร โดยปรับสูงสุด 
ตรวจบังคับใช้กฎหมายโรงงานและสถานประกอบกิจการอย่างเข้มงวด ควบคุม/จับกุม ผู้ลักลอบเผา
ในเขตชุมชนและริมทาง

5. การจัดการหมอกควันข้ามแดน ส่งเสริมการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรแบบไม่เผา จัดการหารือระดับรัฐมนตรีก่อนเริ่มฤดูหมอกควัน ตั้งศูนย์ข้อมูลและศูนย์บัญชาการเฝ้าระวัง ควบคุมและดับไฟ ในประเทศเพื่อนบ้าน

6. การบริหารจัดการภาพรวม จะเร่งรัดการของบกลางสนับสนุน ให้สิทธิประโยชน์กับภาคเอกชน ยกระดับ
การบังคับใช้กฎหมาย ประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ PM2.5 มีนโยบายการ Work From Home ดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มข้น ยกระดับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัด พื้นที่เสี่ยงและช่วงเวลาวิกฤต

นางสาวปรีญาพร อธิบายว่า สำหรับการเตรียมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันบูรณาการดำเนินงานตามมาตารการฯ โดยเฉพาะการควบคุมการระบายฝุ่นจากยานพาหนะ อุตสาหกรรม การเผาในพื้นที่ชุมชนและริมทาง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญ ทั้งในมิติการส่งเสริมและการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงเตรียมพร้อมมาตรการด้านสาธารณสุข การ Work From Home การสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งเตือนให้กับพี่น้องประชาชน และขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิด ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4thai

จับตาฝุ่น PM2.5 อากาศปิด ฝุ่นระบายไม่ได้ เตรียมลดค่าโดยสาร-หนุน WFH ปี 2568

ลานีญาทำให้ฝุ่น PM2.5 ไม่รุนแรงเท่าต้นปี

"ดร.ศักดา ตรีเดช" ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง ร่วมให้ข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นละออง ปี 2568 กล่าวว่า การคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กระยะไกลล่วงหน้า องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration/NOAA) ประเมินว่าช่วงระหว่างเดือนกันยายนไปจนถึงพฤศจิกายน 2567 จะเป็นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สภาวะ “ลานีญา” (La Nina) ซึ่งจะส่งผลให้ฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก รวมประเทศไทย มีปริมาณฝนตกมากกว่าปกติ

ปรากฎการณ์ดังกล่าวจะคงอยู่ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งผลที่ตามมาจะทำให้การลุกลามจากการเผาไหม้เศษวัสดุชีวมวลไม่รุนแรงเท่าสถานการณ์ภายใต้ปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” (สภาวะแห้งแล้ง) ประกอบกับการดำเนินการภายใต้มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ที่จะสามารถควบคุมแหล่งกำเนิดที่มีนัยสำคัญได้ครบทุกมิติ จึงคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในระยะยาวได้ว่าสถานการณ์จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และไม่รุนแรงเท่าช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา