'ข้าวหมูเด้ง' ชวนซื้อข้าว ช่วยชาวนาประสบภัยน้ำท่วมกว่า 300 ครัวเรือน
ชีวิตของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่ปลูกข้าวปีละครั้งโอนเอนไปตามกระแสน้ำ เพราะพวกเขาจะขาดรายได้ในการทำนาทั้งปี และจะมีรายได้อีกครั้งเมื่อลงมือเพาะปลูกรอบใหม่ และขายผลผลิตได้ นั่นคือเดือนธันวาคม 2568
อุตสาหกรรมข้าวไทยในช่วงปี 2023-2024 เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน แต่ยังคงแสดงถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในปี 2023 ปริมาณการผลิตข้าวในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 22.2 ล้านเมตริกตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในฤดูเก็บเกี่ยว 2023-2024 คาดว่าการผลิตจะลดลง 871,000 ตัน (3.27%) เหลือ 25.8 ล้านตัน เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (ข้อมูลจาก Statista)
ทั้งนี้ ผลผลิตข้าวต่อไร่ในประเทศไทยในปี 2023 อยู่ที่ 317 กิโลกรัม แสดงถึงความสามารถของเกษตรกรไทยในการเพิ่มผลผลิต และการส่งออกข้าวคาดว่าในปี 2024 จะอยู่ที่ 8.6 ล้านตัน ซึ่งใกล้เคียงกับระดับสูงในปีที่ผ่านมา
อุตสาหกรรมข้าวในประเทศไทยมีการทำงานโดยครัวเรือนเกษตรกรประมาณห้าล้านครัวเรือน ซึ่งคิดเป็นมากกว่า 60% ของแรงงานเกษตรทั้งหมดในประเทศ สถิติเหล่านี้สะท้อนถึงความท้าทายและโอกาสที่ชาวนาไทยต้องเผชิญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
จากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง หนึ่งในนั้นคือ เกษตรกรอินทรีย์ที่มีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ในจังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่ ที่ขาดรายได้ทันที เพราะผลผลิตที่เตรียมออกสู่ตลาดในปลายปีนี้หายวับไปกับสายน้ำที่ไหล่บ่ามาอย่างรวดเร็วและท่วมทุกพื้นที่
จึงเป็นที่มาของการออกแคมเปญพิเศษ “ข้าวหมูเด้ง สนับสนุนเกษตรกรผู้ประสบภัยน้ำท่วม” ภายใต้งาน Thailand Rice Fest 2024 ที่จะจัดขึ้นวันที่ 12 - 15 ธันวาคม 2567 โดยเป็นเทศกาลข้าวที่เป็นเวทีสำคัญในการยกระดับข้าวไทย และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค
โครงการนี้มี "หมูเด้ง" ฮิปโปโปเตมัสแคระเพศเมียที่อาศัยอยู่ในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี รับหน้าที่เป็นทูตสันถวไมตรี ที่นอกจากจะสร้างรอยยิ้มให้กับคนทั่วโลก แล้วยังมาคืนรอยยิ้มให้กับเกษตรกรไทยที่ประสบภัยน้ำท่วม ให้กลับมายืนหยัด ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ได้อย่างเร็วที่สุด ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการคืนรอยยิ้มให้เกษตรกรเหมือนหมูเด้งเช่นกัน ผ่านการสั่งซื้อข้าวอินทรีย์ล่วงหน้าตั้งแต่วันนี้ - 20 ธันวาคม 2567
เป้าหมายของการซื้อข้าวคือ ช่วยเหลือเกษตรกร 2 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มทุ่งต้อมพอเพียง : เป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ที่มีสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 280 ครอบครัว อยู่ใน 2 ตำบล พื้นที่ 1,300 ไร่ เป็นนาอินทรีย์ที่ได้รับการรับรอง ข้าวอินทรีย์ Organic Thailand
ซึ่งกลุ่มทุ่งต้อมพอเพียงเน้นทำการเกษตรและปศุสัตว์หลากหลาย เช่น ปลูกข้าว ผักสวนครัว เลี้ยงปลานิล และหมู บริหารจัดการอย่างยั่งยืน เช่น นำฟางข้าวมาลงบ่อปลาเป็นแหล่งอาหารสร้างแพลงก์ตอนให้ปลานิล เศษปลานำไปทำน้ำหมัก ขี้หมูนำไปใส่ในนาข้าว และนำผลผลิตส่วนต่าง ๆ ไปแปรรูปให้ได้มากที่สุด ลดของเสียและเพิ่มมูลค่าสินค้า
2. กลุ่มรักถิ่นเกิดเกษตรทฤษฎีใหม่ : เป็นกลุ่มนาแปลงใหญ่อยู่ในตำบลบ้านด้าย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีสมาชิกที่ปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 10 ครอบครัว พื้นที่ 166 ไร่
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
แคมเปญพิเศษ “ข้าวหมูเด้ง สนับสนุนเกษตรกรผู้ประสบภัยน้ำท่วม” สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 7 เป้าหมาย คือ
SDG 1 : ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่
ภายในปี 2030 เป้าหมายนี้มุ่งเน้นการลดจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในความยากจนอย่างสุดขีด และสนับสนุนการเข้าถึงทรัพยากรและบริการพื้นฐานที่จำเป็น เช่น การศึกษา สุขภาพ และการประกันสังคม นอกจากนี้ยังรวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและครอบคลุม เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง
SDG 2 : ขจัดความหิวโหย
มุ่งเน้นการขจัดความหิวโหย สร้างความมั่นคงด้านอาหาร ปรับปรุงโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
SDG 3 : สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
ส่งเสริมสุขภาพที่ดีและการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ ลดการเจ็บป่วยและการตายจากสาเหตุต่าง ๆ รวมถึงการเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่เท่าเทียม
SDG 8 : การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม การจ้างงานที่มีคุณค่า และสภาพการทำงานที่เหมาะสม
SDG 10 : ลดความเหลื่อมล้ำ
ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างและภายในประเทศ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการเสริมสร้างศักยภาพให้กับทุกคน
SDG 12 : การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน
ส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน ลดของเสียและการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น และสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
SDG 13 : การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ดำเนินการด่วนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบของมัน เพิ่มความสามารถในการปรับตัวและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
SDG 15 : การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน
ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน เช่น ป่าไม้ แหล่งน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ
วิธีการสั่งซื้อและรายละเอียดข้าว
1. สนับสนุนข้าวอินทรีย์คุณภาพสูงผ่านแพลตฟอร์มเทใจที่ลิงก์นี้ https://taejai.com/th/project/dst-moodengrice ตั้งแต่วันนี้ - 20 ธันวาคม 2567 หรือเลือกสนับสนุนโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ได้ที่บูทขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (บูธเลขที่ H30) ในงาน Thailand Rice Fest 2024 วันที่ 12–14 ธันวาคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยยอดการสนับสนุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า
2. ข้าวสารถุงละ 1 กิโลกรัม มูลค่าการสนับสนุน 200 บาท ผู้สนับสนุนจะได้รับข้าว 1 กิโลกรัม การ์ดขอบคุณลายหมูเด้ง 1 ใบ ด้านในเป็นคำขอบคุณจากเกษตรกร ภาพหมูเด้งวาดโดยคุณอารีรัตน์ ทับทิม เจ้าหน้าที่สื่อการศึกษา สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จัดส่งทันทีตามที่อยู่จัดส่งโดยไม่คิดค่าส่งเพิ่ม
3. รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด (ค่าพิมพ์การ์ด ค่าจัดส่ง ค่าธรรมเนียมการชำระเงิน) จะมอบให้กับตัวแทนกลุ่มทุ่งต้อมพอเพียง และกลุ่มรักถิ่นเกิดเกษตรทฤษฎีใหม่
4. ผู้สนับสนุนจะได้รับข้าวสารจากพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105
5. ผู้สนับสนุนข้าว 1 กิโลกรัม จะได้รับการ์ด 1 ใบ โดยการสุ่มลาย การ์ดมีทั้งหมด 8 ลาย ถ้าสนับสนุน 8 กิโลกรัม จะได้รับการ์ดครบทั้ง 8 ลาย
6. ผู้สนับสนุนเลือกที่อยู่สำหรับจัดส่งข้าวได้ (จัดส่งเฉพาะภายในประเทศไทยเท่านั้น)
7. ผู้สนับสนุนเลือกได้ว่าจะรับไว้เพียงบางส่วน ส่วนที่เหลือเลือก ‘บริจาค’ ได้ โดย FOOD FOR GOOD ภายใต้มูลนิธิยุวพัฒน์ จะจัดส่งเพื่อเป็นอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนที่ขาดแคลนในพื้นที่อำเภอเทิง และอำเภอแม่สายจังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียง โดยผู้สนับสนุนยังได้รับการ์ดครบตามเต็มตามจำนวนที่สนับสนุน
8. หากเป็นการสนับสนุนจากต่างประเทศ ผู้สนับสนุนจะได้รับการ์ดส่งไปต่างประเทศตามที่อยู่ที่แจ้ง แต่โครงการนี้ส่งข้าวไปต่างประเทศไม่ได้ หากต้องการรับข้าว ต้องใส่ที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น หรือเลือกบริจาคข้าวทั้งหมดให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน
9. ผู้สนับสนุนจะได้รับข้าวในเดือนธันวาคม 2568 - มกราคม 2569 (หากมีเหตุให้ได้รับช้ากว่านั้น จะมีการแจ้งรายละเอียดทางอีเมล)