‘ซีเค พาวเวอร์’สร้างกลยุทธ์สู่การปฎิบัติ เดินหน้าสู่ CKP NET ZERO 2050
การบุกเบิกผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นความท้าทายที่มีแรงส่งจากเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
หนึ่งในผู้บุกเบิกที่สำคัญคือ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower (ชื่อย่อหลักทรัพย์: CKP) และยังเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและมีคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ต่ำที่สุดรายหนึ่ง
พร้อมเป็นบริษัทที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และกำลังเดินหน้าเพื่อให้บรรลุยังเป้าหมายดังกล่าวโดยมีผลการดำเนินงานที่สามารถจับต้องได้อย่างแท้จริง
ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2566 ด้านการจัดการพลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.0691 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ต่อการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) ซึ่งต่ำกว่าค่ากลางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Thailand Grid) ที่ 0.4999 tCO2e/MWh ถึง 86%
ไม่เพียงเท่านั้น ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกของปี 2567 ยังพบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ ซีเค พาวเวอร์ยังต่ำกว่า 83% และ คาดการณ์ตลอดปี 2567 จะทำได้ต่ำกว่าค่ากลางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศถึง 87%
ผลที่น่าพอใจมาจากความพยายามอย่างหนัก โดย บริษัทฯ มีการพัฒนานวัตกรรมด้านการลดการใช้พลังงาน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าและกระบวนการต่างๆ ภายในองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง
ตลอดการดำเนินงานในปี 2566 สามารถลดการใช้พลังงานทั้งหมด 5,101 MWh สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,051 tCO2e หรือหากเทียบกับโครงการกรุงเทพปิดไฟ (Earth Hour 2024) 1 ชั่วโมง เท่ากับ 186 ชั่วโมง และช่วง 6 เดือนแรกในปี 2567 บริษัทลดการใช้พลังงานได้ถึง 2,883 MWh สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1,313 tCO2e หรือเทียบเท่ากับ 119 ชั่วโมง
ทำให้ปัจจุบัน ซีเค พาวเวอร์ จึงนับเป็นส่วนสำคัญในภาคการผลิตไฟฟ้าที่ช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยัง มีความมุ่งมั่นในการเดินหน้าสู่เป้าหมายตามแผนงาน CKP NET ZERO EMISSIONS 2050เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปีพ.ศ.2593
โดยการดำเนินงานที่สำคัญคือ การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตไฟฟ้า บริษัทได้วางแผนระยะยาวโดยมุ่งเน้นขยายการลงทุนในโครงการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การศึกษาการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนผสมก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสอดรับกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของไทยตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567 - 2580 (PDP2024)และ 6 เดือนแรกในปี 2567 บริษัทสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการผลิตไฟฟ้าได้ดีกว่าเป้าหมาย 0.86%
นอกจากนี้บริษัทได้มีการปรับใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในองค์กรเพิ่มขึ้น เช่น การเปลี่ยนมาใช้รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าและรถไฮบริดในการขนส่งภายในสำนักงานและโรงไฟฟ้าในเครือฯ
“เมื่อสองปีที่ผ่านมา ซีเค พาวเวอร์ ได้มีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เรามีกำลังการผลิตติดตั้งจากพลังงานหมุนเวียนที่ 89% วันนี้เราสามารถเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนได้ถึง 93% รวมถึงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดส่งให้กับประเทศไทยประมาณ 8.5 ล้านเมกะวัตต์-ชั่วโมง หรือประมาณ 17% ของไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่ใช้ในประเทศไทยทำให้ในปี 2566 บริษัทฯ ช่วยหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงประมาณ 4.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า”
จากผลการทำงานและการสร้างความมุ่งมั่นที่จับต้องได้บริษัท ซีเค พาวเวอร์ได้รับการประเมินจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ได้SET ESG Ratings ที่ระดับ “AAA”ซึ่งเป็นเรตติ้งระดับสูงสุด เป็นปีที่สี่ติดต่อกัน
สำหรับแผนการดำเนินงานระยะยาวเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการผลิตไฟฟ้า ซีเค พาวเวอร์จัดทำโครงการอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่องมุ่งการขยายการลงทุนในโครงการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การศึกษาการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนผสมก๊าซธรรมชาติ สอดรับกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของไทยตามร่างแผน PDP 2024
การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 95% ภายในปี 2586,การเพิ่มการใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในองค์กร100%รวมถึงการใช้ใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่คงเหลือ ภายในปี 2586,การเพิ่มโอกาสทางธุรกิจเพื่อขยายการลงทุนสีเขียวให้กับองค์กรผ่านการประยุกต์ใช้กลไกการกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (Internal Carbon Pricing) และขยายธุรกิจใหม่ที่มุ่งเน้นใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนที่ทันสมัยระดับโลก
การกำหนดเป้าหมายหรีือความมุ่งมั่นเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรสามารถทำได้ แต่การสร้างความมุ่งมั่นที่จับต้องได้ ลงมือปฎิบัติจริงต้องใช้ทั้งกลยุทธ์และความเชี่ยวชาญ เติมเต็มด้วยความมุ่งมั่นเพื่อลงมือปฎิบัติและทำให้เป้าหมายเกิดขึ้นได้จริง