เจาะลึกสาระสำคัญ ครม. การเตรียมประชุม 'COP29'

เจาะลึกสาระสำคัญ ครม. การเตรียมประชุม 'COP29'

คณะรัฐมนตรีรับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนของประเทศไทยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP29) ในเรื่องสาระสำคัญในการประชุม ที่ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 11 - 23 พ.ย. 67 ที่จะถึงนี้

โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบต่อกรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจําปี  2567-2568 ทั้งนี้ หากมีความจําเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกรอบท่าทีเจรจาฯ ที่ไม่ใช่สาระสําคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดําเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอดังนี้

สาระสําคัญ                  

1. ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่อกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิธีสารเกียวโต และความตกลงปารีส เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2537 วันที่ 28 ส.ค. 2545 และวันที่ 21 ก.ย. 2559 ตามลําดับ และได้ดําเนินการตามพันธกรณีของกรอบอนุสัญญาฯ พิธีสารเกียวโต และความตกลงปารีส รวมถึงการเข้าร่วมการประชุมในฐานะรัฐภาคีมาโดยตลอด

โดยมีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทําหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานกลางของประเทศภายใต้กรอบ   อนุสัญญาฯ


2. สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 29 (COP 29) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการประชุมประจําปีของรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ พิธีสารเกียวโต และความตกลงปารีส เพื่อหารือรายละเอียดความร่วมมือและกําหนดทิศทางการดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประชาคมโลก โดยสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ในฐานะประเทศเจ้าภาพและประธานการประชุม COP 29 กําหนดวิสัยทัศน์ในการยกระดับความมุ่งมั่น

และสนับสนุนการดําเนินงาน (Enhance Ambition, Enable Action) เพื่อเป็น 2 เสาหลักในการดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เสาหลักที่ 1 การยกระดับความมุ่งมั่น ครอบคลุมการจัดทํานโยบายและแผนงานที่ชัดเจนในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส การจัดทําเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนด (Nationality Determined Contribution : NDC) การจัดทําแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan : NAP) การจัดทํารายงานความโปร่งใสรายสองปี (Biennial Transparency Report : BTR) ที่แสดงถึงความทะเยอทะยาน และมีประสิทธิภาพ

เสาหลักที่ 2 การสนับสนุนการดําเนินงานครอบคลุมกลไกการสนับสนุน (Means of Implementation) เช่น การเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพ นอกจากนี้ สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานกําหนดเป้าหมายสําคัญที่ต้องการผลักดันในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย การจัดทําเป้าหมายทางการเงินใหม่    (New Collective Quantified Goal on Climate Finance : NCQG)

การยกระดับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการจัดทําเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนดฉบับที่ 2 (NDC 3.0) ซึ่งมีกําหนดจัดส่งในปี  ค.ศ. 2025 การจัดทําตัวชี้วัดภายใต้เป้าหมายการปรับตัวระดับโลก การดําเนินงานของกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย

 3. องค์ประกอบคณะผู้แทนของประเทศไทยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 29 (COP 29) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 9 - 22 พ.ย. 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
                

 4. กรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจําปี  2567- 2568 เป็นไปตามหลักการของกรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนของประเทศด้านการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ และไม่ขัดกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา

ประโยชน์และผลกระทบ

การเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP 29) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน เป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้แสดงบทบาทและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับนานาประเทศในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและให้เกิดการขับเคลื่อนการดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลาง ทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ต่อไป