ฝึก ‘หนูยักษ์’ ดมกลิ่น ช่วยจนท. ค้นหาซากสัตว์ป่าหายาก จับขบวนการค้าสัตว์ป่า
นักวิจัยฝึก “หนูแก้มถุงยักษ์แอฟริกา” (African Giant Pouched Rat) ช่วยดมกลิ่นหาซากสัตว์ป่า วิธีต่อสู้กับขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ราคาถูกและใช้ได้ดี
KEY
POINTS
- “หนูแก้มถุงยักษ์แอฟริกา” (African Giant Pouched Rat) ถูกนำมาฝึก เพื่อดมกลิ่นหาซากสัตว์ป่าหายากจากขบวนการลักลอบค้าสัตว์
- หนูเหล่านี้พบตัวอย่างสัตว์ป่าที่ปลูกผิดกฎหมายถึง 85% แม้จะปฏิบัติการผ่านช่องระบายอากาศในตู้คอนเทนเนอร์ก็ตาม
- เครื่องมือตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยมีราคาแพงและใช้เวลานานในการตรวจสอบ ดังนั้นการใช้หนูแก้มถุงยักษ์แอฟริกาช่วยจับกลิ่นที่มีประสิทธิภาพด้านต้นทุน และหนูสามารถเข้าถึงพื้นที่แคบได้
“หนูแก้มถุงยักษ์แอฟริกา” (African Giant Pouched Rat) มีถิ่นกำเนินจากป่าฝนเขตร้อนและป่าในแอฟริกาตะวันตก ถูกนำมาฝึกปฏิบัติการทางทหาร ค้นหาทุ่นระเบิดในแอฟริกา รวมถึงเชื้อก่อโรคที่ทำให้เกิดวัณโรค แต่ตอนนี้สัตว์ฟันแทะเหล่านี้ถูกนำมาฝึก เพื่อดมกลิ่นหาซากสัตว์ป่าหายากจากขบวนการลักลอบค้าสัตว์
ทีมนักวิจัยได้ฝึกให้หนูแก้มถุงยักษ์แอฟริกาสามารถดมกลิ่นเกล็ดตัวลิ่น งาช้าง นอแรด และต้นแบล็กวูดแอฟริกา ซึ่งเป็นสัตว์และพืชเหล่านี้ได้รับการขึ้นบัญชีว่าใกล้สูญพันธุ์และอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง
“การศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า เราสามารถฝึกหนูแก้มถุงยักษ์แอฟริกาให้ตรวจจับสัตว์ป่าที่ถูกลักลอบค้าได้ แม้ว่าจะซ่อนวัตถุเหล่านี้ไว้ท่ามกลางสารอื่น ๆ” ดร.อิซาเบล ซอตต์ นักวิจัยจากมูลนิธิโอกีอานอสและผู้ทำการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Frontiers in Conservation Science กล่าว
การวิจัยในครั้งนี้ดำเนินการโดย APOPO องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ตั้งอยู่ในแทนซาเนีย เพื่อนำเสนอวิธีการต่อสู้กับขบวนการลับลอบค้าสัตว์ป่า ที่มีมูลค่าสูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลจากอินเตอร์โพล ด้วยวิธีที่ใช้เทคโนโลยีต่ำ และคุ้มต้นทุนสูง
เครื่องมือตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยมีราคาแพงและใช้เวลานานในการตรวจสอบ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ดังนั้นการใช้หนูแก้มถุงยักษ์แอฟริกาช่วยจับกลิ่นที่มีประสิทธิภาพด้านต้นทุน และหนูสามารถเข้าถึงพื้นที่แคบ ๆ ได้
หนูแก้มถุงยักษ์แอฟริกา ขึ้นชื่อว่ามีประสาทรับกลิ่นที่เฉียบแหลม และมันจะยังคงจำกลิ่นเหล่านั้นได้ แม้จะไม่ได้กลิ่นนั้นมานานแล้วก็ตาม ไม่แตกต่างจากสุนัขดมกลิ่น โดยได้นำหนูสายพันธุ์นี้จำนวน 11 ตัว ประกอบไปด้วย เคิร์สตี้ มาร์ตี้ แอตเทนโบโร เออร์วิน เบ็ตตี้ เท็ดดี้ ไอวอรี เอโบนี เดสมอนด์ ธอร์โร และฟอสซีย์ ซึ่งบางตัวตั้งชื่อตามนักสนทนาและผู้สนับสนุนการต่อต้านการค้าสัตว์ป่า เข้าฝึกอบรมหลายขั้นตอน
ระหว่างการฝึก หนูจะเรียนรู้ที่จะจำกลิ่นของชิ้นส่วนสัตว์และพืชต่าง ๆ เช่น เกล็ดตัวลิ่น ไม้ นอแรด หรืองาช้าง อยู่หลายวินาที และเมื่อหนูสามารถบ่งชี้กลิ่นได้ถูกต้อง ก็จะได้รับรางวัลเป็นอาหาร ในขั้นตอนต่อไป จะดมกลิ่นอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เป้าหมาย ได้แก่ สายไฟฟ้า เมล็ดกาแฟ และผงซักฟอก ซึ่งเป็นวัตถุที่พวกค้าสัตว์ป่าใช้กลบกลิ่นสัตว์ป่า
“ในระยะการแยกแยะ หนูจะเรียนรู้ที่จะส่งสัญญาณเฉพาะกลิ่นของสัตว์ป่าที่เป็นเป้าหมายเท่านั้น และจะเพิกเฉยต่อสิ่งที่ไม่ใช่เป้าหมาย” ดร.ซอตต์กล่าว
หนูจะถูกสวมเสื้อกั๊กที่สั่งทำพิเศษ หากหนูค้นพบวัตถุต้องสงสัยจะใช้ โดยอุ้งเท้าหน้าดึงลูกบอลเล็ก ๆ ที่ติดอยู่ที่หน้าอกของเสื้อกั๊ก ซึ่งจะส่งเสียงบี๊บ ๆ ออกมาเพื่อเป็นการแจ้งผู้ดูแล
“เสื้อกั๊กเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาฮาร์ดแวร์ที่สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์และงานต่าง ๆ ได้ รวมถึงที่ท่าเรือขนส่งสินค้าเพื่อตรวจจับสัตว์ป่าที่ลักลอบนำเข้า” เวบบ์กล่าว
เมื่อสิ้นสุดการฝึก หนู 8 ตัว สามารถระบุชนิดสัตว์ป่าที่ลักลอบนำเข้ามาได้ 4 ชนิดจากวัตถุทั้งหมด 146 ชนิด
ในปี 2023 หนูเหล่านี้ยังถูกนำไปทดสอบในสถานการณ์จำลองเสมือนจริงที่ท่าเรือดาร์เอสซาลาม ซึ่งเป็นเมืองหลวงทางการค้าของแทนซาเนีย กล่าวว่าหนูเหล่านี้พบตัวอย่างสัตว์ป่าที่ปลูกผิดกฎหมายถึง 85% แม้จะปฏิบัติการผ่านช่องระบายอากาศในตู้คอนเทนเนอร์ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ดำเนินการในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุม ไม่ตรงกับสภาพแวดล้อมการค้าสัตว์ป่าหรือถูกสัตว์ตรวจจับกลิ่นตรวจค้น ดังนั้นนักวิจัยชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องพัฒนาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อนำหนูไปใช้งานในภารกิจนี้
รายงานอาชญากรรมสัตว์ป่าโลก โดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เมื่อต้นปี 2024 ระบุว่า โดยรวมแล้วการค้าสัตว์ป่าไม่ได้ลดลงอย่างมากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายประมาณ 4,000 สายพันธุ์ระหว่างปี 2015-2021 โดยมี 3,250 สายพันธุ์อยู่ในรายชื่ออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)
“การลักลอบขนสัตว์ป่ามักดำเนินการโดยบุคคลที่กระทำกิจกรรมผิดกฎหมายอื่น ๆ เช่น การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด และการค้าอาวุธ ดังนั้น การนำหนูไปใช้งานเพื่อต่อสู้กับการค้าสัตว์ป่าอาจช่วยต่อสู้กับเครือข่ายที่แสวงหาประโยชน์จากมนุษย์และธรรมชาติทั่วโลกได้” เวบบ์กล่าวสรุป
อ่านต่อ: Frontiersin, News Week, The Guardian