‘SME’ ตัวแปรสำคัญพาโลกมุ่งสู่ ‘เน็ตซีโร่’ ภาครัฐ-สถาบันการเงินห้ามมองข้าม
“วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” หรือ “SME” มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ภาครัฐและสถานบันทางการเงินจำเป็นต้องทำความเข้าใจความแตกต่างของ SME
KEY
POINTS
- การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์และแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติด้านความยั่งยืน จะช่วยให้ SME สร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งขึ้นกับผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
- แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการยังขาดความช่วยเหลือทั้งด้านเงินทุนและความรู้ในเข้าสู่เน็ตซีโร
- สถาบันสาธารณะจำเป็นต้องมีความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับเส้นทางและความต้องการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่หลากหลายของ SME เพื่อออกแบบโซลูชันที่เหมาะสม
“วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” หรือ “SME” มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะธุรกิจเหล่านี้มีมากถึง 90% ของธุรกิจทั้งหมด และมีการจ้างงานมากกว่า 50% ทั่วโลก สร้างงานประมาณ 60-70% ในประเทศ OECD ส่วนใหญ่ และสร้างการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการได้มากถึง 50-60%
ดังนั้นหากธุรกิจเหล่านี้นำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้ และลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยเร่งให้ก้าวสู่การปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างมีนัยสำคัญ ขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรม และส่งเสริมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่มีความยืดหยุ่นซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรวม
SME ถือเป็นตัวเปลี่ยนเกมในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เนื่องจากธุรกิจระดับนี้มีความคล่องตัว สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม และมีสายสัมพันธ์ภายในชุมชนท้องถิ่นได้มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงและนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่า อีกทั้ง ช่วยสร้างงานสีเขียวใหม่ และส่งเสริมนวัตกรรมในแนวทางปฏิบัติและเทคโนโลยีที่ยั่งยืน
ความยั่งยืน กลายเป็นปัจจัยหลักที่ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อหรือใช้บริการ หาก SME ที่มุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์และแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติด้านความยั่งยืน จะสามารถนำมาใช้สร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งขึ้นกับผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่ต้องแสดงออกมาด้วยความจริงใจ ให้เห็นความตั้งใจจริง ส่งเสริมความไว้วางใจและความภักดีในหมู่ลูกค้า และทำให้ได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาด
SME ต้องการความช่วยเหลือ
ธุรกิจขนาดเล็กส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนมากเพียงพอ จากข้อมูลการสำรวจของ SME Climate Hub โครงการริเริ่มระดับโลกที่มีเป้าหมายเพื่อนำการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศมาสู่ SME ที่เผยแพร่มาในเดือนเมษายน 2024 พบว่า
52% ระบุว่าการขาดนโยบายหรือแรงจูงใจและผลประโยชน์ที่รัฐบาลสนับสนุนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ
เมื่อถามว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ผู้ตอบแบบสอบถาม 52% ระบุว่าเงินทุนเป็นปัญหาสำคัญ ขณะที่ 39% เลือกการขาดข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน ส่วน 29% มองว่าไม่มีเวลาเพียงพอ และ 29% ระบุว่าขาดทักษะและความรู้
มาเรีย เมนดิลูซ ซีอีโอของ We Mean Business Coalition ผู้ก่อตั้งร่วมของ SME Climate Hub กล่าวว่า “เพื่อที่จะเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่สะอาดและยุติธรรม เราไม่สามารถทิ้งธุรกิจขนาดเล็กและชุมชนของพวกเขาไว้ข้างหลังได้ แต่เราต้องมีแนวทางที่ครอบคลุมทั้งสังคมเพื่อให้การดำเนินการนี้เกิดขึ้นได้”
เพื่อบรรลุเป้าหมายการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศของเราได้สำเร็จ จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือระหว่างภาคการเงิน รัฐบาล ชุมชนเอ็นจีโอ และธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ในตอนนี้ยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 84% กล่าวว่าพวกเขาไม่ได้รับแรงจูงใจทางการเงินใด ๆ สำหรับ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เมื่อถามต่อว่าถ้าหากได้รับเงินลงทุนจะนำมาใช้อย่างไร 10% กล่าวว่าพวกเขาต้องการเงินทุนเพื่อเริ่มต้นการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ 28% กล่าวว่าเงินทุนจะช่วยขยายการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และ 36% แนะนำว่าเงินทุนจะช่วยเร่งการดำเนินการ
ทำความเข้าใจ SME
SME ประกอบด้วยกลุ่มองค์กรที่หลากหลาย ตั้งแต่ธุรกิจขนาดย่อมที่มีพนักงานน้อยกว่า 10 คนไปจนถึงบริษัทขนาดกลางที่มีพนักงานหลายร้อยคน ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าระดับโลกขนาดใหญ่และซับซ้อน องค์กรเหล่านี้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนในระดับที่แตกต่างกันมาก รวมถึงระดับทรัพยากรที่แตกต่างกันในการเปลี่ยนผ่าน และการวัดและการรายงานประสิทธิภาพด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้นสถาบันสาธารณะจำเป็นต้องมีความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับเส้นทางและความต้องการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่หลากหลายของ SME เพื่อออกแบบโซลูชันที่เหมาะสม เสถียรภาพของกฎระเบียบสามารถช่วยลดความไม่แน่นอนและเป็นแรงจูงใจให้ SME ลงทุนด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สถาบันการเงินของรัฐและเอกชนมีบทบาทสำคัญในการจัดหาเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่าน SME ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และให้การสนับสนุนที่ไม่ใช่ทางการเงินในแง่ของการสร้างความตระหนักรู้และเครื่องมือที่ใช้งานได้จริงเพื่อช่วยแนะนำ SME ในการเดินทางสู่เน็ตซีโร่ โดยการทำเช่นนี้ สถาบันเหล่านี้สามารถช่วยกระตุ้นความต้องการเงินทุนและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ SME ได้
การสนับสนุนทางการเงินอาจรวมถึงการระดมทุนโดยตรงจากหน่วยงานของรัฐผ่านเงินกู้ หุ้น เงินช่วยเหลือ หรือการสนับสนุนทางอ้อมผ่านการค้ำประกันและเครื่องมืออื่น ๆ ที่สามารถดึงดูดเงินทุนจากภาคเอกชนสำหรับลูกค้า SME ได้ การส่งเสริมนวัตกรรมในระบบการเงินและตลาดยังมีความสำคัญต่อการทำให้โซลูชันทางการเงินดิจิทัลมีบทบาทในการขยายการเข้าถึงเงินทุนที่ยั่งยืนของ SME การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ SME ในตลาดการเงินสีเขียวก็มีความสำคัญเช่นกัน
สถาบันทางการเงินให้คำมั่นสัญญาของตนเองในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ซึ่งรวมถึงกิจกรรมทางการเงินด้วย ขณะเดียวกัน สถาบันทางการเงินก็ได้รับแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นจากทั่วสังคม ต้องนำการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการพิจารณาความยั่งยืนอื่น ๆ มาพิจารณาในการให้สินเชื่อและการตัดสินใจลงทุน ด้วยเหตุนี้ สถาบันทางการเงินจึงพัฒนาโปรแกรมเพื่อสนับสนุนธุรกิจในการลดการปล่อยคาร์บอน ที่เรียกว่า “สินเชื่อสีเขียว” (Green loans)
สินเชื่อสีเขียว เป็นรูปแบบสินเชื่อที่มุ่งเน้นการสนับสนุนธุรกิจหรือโครงการที่มีเป้าหมายในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การอนุรักษ์พลังงาน ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานสะอาด พลังงานทดแทน การบริหารจัดการน้ำและน้ำเสีย การลดปริมาณขยะ การสร้างพื้นที่สีเขียว และโครงการที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อช่วยลดการกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว โดยจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสินเชื่อทั่วไปเพื่อช่วยสนับสนุนโครงการที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม
เนื่องด้วยธุรกิจที่ยั่งยืนเป็นธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น อุปทานของสินเชื่อสีเขียวและข้อเสนออื่น ๆ ของธนาคารก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน และการเข้าถึงสินเชื่อสีเขียวได้ง่ายขึ้นทำให้ SME สามารถนำแนวทางปฏิบัติสีเขียวมาใช้เพื่อลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของสินทรัพย์ทางธุรกิจทั่วไป เช่น สำนักงาน คลังสินค้า และระบบการขนส่ง
ที่มา: Climate Champions, Global Finance, Harvard Business Review, OECD, SME Climate Hub