อีโคซิสเตม ‘ความยั่งยืน’ สร้างการรับรู้ 66 ล้านคน ‘ยากสุด’

อีโคซิสเตม ‘ความยั่งยืน’ สร้างการรับรู้ 66 ล้านคน ‘ยากสุด’

“บางอย่างต้องอดทนเพื่อให้เกิดผล เช่น การออกกฎหมาย ต้องมีเครื่องมือให้เกิดผลระยะยาว ”สภาพภูมิอากาศส่งผลโลกรวนด้วยก๊าซเรือนกระจกทำให้พายุรุนแรงมากขึ้น เช่น พายุที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้น และทำให้มีความเสียหายเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

โดยทำให้หลายประเทศให้ความสำคัญกับการรับมือเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะลดความสูญเสีย

สำหรับไทยได้จัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม ถูกจัดตั้งเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2566 โดยดึงภารกิจที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการจัดการ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มารวมไว้ด้วยกัน

นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า การขับเคลื่อนงานของกรมฯ ช่วง 1 ปี 2 เดือนที่ผ่านมา มีความคืบหน้าหลายส่วน

สำหรับภารกิจสำคัญต้องสร้างความร่วมมือกับ 66 ล้านคน โดยประชาชนคือ ผู้บริโภคสำคัญสุดในห่วงโซ่ ในขณะที่การบริโภคสินค้าที่มีพื้นฐานจากฟอสซิลในปริมาณมาก จะต้องดูว่าจะรักโลกแบบใดระหว่างการรักโลกด้วยปากแต่พฤติกรรมไม่เปลี่ยน หรือรักโลกแบบสกปรก หรือจะเลือกสินค้าแพงขึ้น

ที่ผ่านมาภาครัฐสนับสนุนการลดปล่อยก๊าซหลายส่วน เช่น ปลูกข้าวทำให้โลกร้อนจึงเกิดโครงการ Thai Rice NAMA ที่กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ทำงานร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เพื่อสนับสนุนเกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีการปลูกข้าวที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยเพิ่มผลผลิต และรายได้แก่เกษตรกร

การสร้างอิโคซิสเตมกลไกแห่งอนาคต

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานหรือระบบการทำงานของรัฐบาลจะเป็นส่วนที่สำคัญ ร่วมกับเอกชนที่จะส่งผลดีต่อประชาชนสำคัญมาก โดยเมื่อไทยมีพลังงานที่สะอาดได้ และเอกชนมาลงทุนกับพลังงานทดแทนได้มากขึ้น จะทำให้ไฟฟ้าที่ประชาชนใช้จะเป็นไฟที่สะอาด

รวมถึงการทำระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ทำระบบขนส่งที่เป็นรถเมล์อีวีมากขึ้นประชาชนก็ได้ใช้ การที่ประชาชนได้ใช้แหละคือ ประชาชนได้มีความร่วมมือที่จะสนับสนุนรัฐหรือเอกชนที่ได้รับสัมปทานจะสามารถขยายขนส่งสาธารณะได้มากขึ้น โดยระบบอีโคซิสเตมที่ดีควรประกอบด้วย ประกอบด้วย

1.นโยบายภาครัฐ ทุกเรื่องชัดเจน มีเป้าหมาย มีการติดตาม และประเมินผลความสำเร็จที่ถูกต้อง และแม่นยำ

2.เครื่องมือสำหรับการขับเคลื่อน ที่ครอบคลุมกฎหมายบังคับที่จะสนับสนุน รวมถึงกลไกการเงินจากทางภาครัฐ สิทธิประโยชน์หรือกองทุนที่จะสนับสนุน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น ระบบราง ระบบไฟ ระบบของ ภาคการเกษตร ระบบชลประทานรูปแบบใหม่ ระบบการจัดการของเสียในประเทศ

3.การสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนถึงการลดการปล่อยก๊าซ เป็นเรื่องที่ยากที่สุดเพราะสร้างให้กับประชาชน 65 ล้านคน 

สำหรับวงจรที่ยั่งยืนไม่ใช่เรื่องยากที่ประเทศไทยจะทำไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจว่าประเทศกำลังพัฒนามี 140 ประเภทแต่ประเทศพัฒนาแล้วมีแค่ 40 ประเทศ ในทิศทางทั่วโลก ให้ความสำคัญกับภัยพิบัติที่มันแรงขึ้นทุกวันนี้เป็นตัวกำหนดให้ทุกคนบนโลกต้องทำ

กฎระเบียบในไทย

นอกจากนี้เป้าหมายในไทยมีความท้าทายมากขึ้น โดยแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand's National Adaptation Plan: NAP) มีกรอบการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การมีภูมิคุ้มกัน และปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยแผนการปรับตัวระดับโลกแบ่งเป็นดังนี้ 

การเกษตร รักษาไว้ซึ่งการผลิตอาหาร และการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกัน น้ำ ลดความขาดแคลนน้ำที่เป็นผลจาก Climate Change ทรัพยากรลดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ และความหลากหลายทางชีวภาพ สาธารณสุข ลดผลกระทบต่อสุขภาพที่เป็นผลจาก Climate Change การตั้งถิ่นฐาน เพิ่มภูมิคุ้มกันในการตั้งถิ่นฐาน ความมั่นคงของมนุษย์ ลดความยากจนของมนุษย์.

รวมถึงการยกร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ....โดยมีสาระสำคัญไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อกำหนดนโยบายการป้องกันและการแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย

การจัดตั้งกองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสนับสนุนลดก๊าซเรือนกระจกทุกมิติทุกอุตสาหกรรมทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชน เช่น การตรวจวัด และรับรองปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนฟุตพริ้นท์)

การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก (GHG inventory) ภาคบังคับ กำหนดให้หน่วยงานรัฐมีอำนาจขอข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผู้ประกอบการพลังงานและโรงงานใน 15 อุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตไฟฟ้า การก่อสร้าง การขนส่ง เหมืองถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ อโลหะ เคมี โลหะ ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง อิเล็กทรอนิกส์ การใช้สารทดแทนสารทำลายชั้นโอโซน การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า กระดาษและเยื่อกระดาษ อาหารและเครื่องดื่ม และเกษตรและปศุสัตว์

การลดก๊าซเรือนกระจก กำหนดให้จัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจัดทำฐานข้อมูลในภาพรวมของประเทศ

การกำหนดระบบภาษีคาร์บอน และคาร์บอนเครดิต กำหนดสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการซื้อขายสิทธิเพื่อสร้างความมีส่วนร่วมลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของนิติบุคคลเฉพาะกลุ่มผ่านกลไกเศรษฐศาสตร์ที่ยืดหยุ่นสูง รวมทั้งพัฒนาระบบจัดเก็บภาษีคาร์บอนแบบอัตราก้าวหน้าในสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกับระบบซื้อขายสิทธิปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS)

การดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำฐานข้อมูลกลางด้านภูมิอากาศ เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลสำหรับประเมินความเสี่ยง และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ อีกทั้งจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้ง 6 สาขา ได้แก่ น้ำ เกษตร ท่องเที่ยว สาธารณสุข ทรัพยากร และตั้งถิ่นฐาน

นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ฝุ่นควันอันเป็นมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในไทยเป็นเวลานาน นอกจากมีสาเหตุมาจากแหล่งกำเนิดระบบการขนส่ง โรงงาน พื้นที่ก่อสร้าง การเผาในที่โล่ง การเผาตอซังของเกษตรกร การเผาพื้นที่ป่าแล้ว ยังมีสาเหตุจากฝุ่นควันที่แหล่งกำเนิดอยู่ต่างประเทศ โดยยกร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. .... สาระสำคัญดังนี้

1.กำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาระบบฐานข้อมูลแผนที่ทางภูมิศาสตร์แสดงจุดที่มีนัยสำคัญต่อคุณภาพอากาศพร้อมติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศครอบคลุมพื้นที่ ที่อาจได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศระดับวิกฤติ

2.กำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำขอบเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ (Air shed) ในระดับวิกฤติจากแหล่งมลพิษในรูปแบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS)

3.กำหนดให้กรมควบคุมมลพิษจัดทำรายงานสถานการณ์ประจำปีของสถานะคุณภาพอากาศเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การบูรณาการเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศ (ร่างมาตรา 30)

4.ให้ยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการ การพัฒนาคุณภาพอากาศเป็นแนวทางปฏิบัติการกำกับทิศทาง และจัดสรรงบประมาณพัฒนาระบบการจัดการสภาพแวดล้อมของชั้นบรรยากาศที่ปลอดภัยต่อระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตประชาชน

5.กำหนดให้ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 49 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ร่างมาตรา 51) กำหนดให้ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานเพื่ออากาศสะอาดตามมาตรา 50 (1) (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ร่างมาตรา 52) 

และกำหนดให้ผู้ใดไม่อำนาจความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่เพื่ออากาศสะอาดตามมาตรา 50 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ร่างมาตรา 53)

“ทั้งหมดนี้เป็นความก้าวหน้าของประเทศไทยที่รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในปัจจุบัน และอนาคตที่รุนแรง ซึ่งลดความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่มากก็น้อย บางอย่างต้องอดทนเพื่อให้เกิดผล เช่น การออกกฎหมาย ต้องมีเครื่องมือให้เกิดผลระยะยาว”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์