พบ ‘ปะการัง’ ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อายุ 300 ปี ความหวังฟื้นฟูธรรมชาติยุค ‘ทะเลเดือด’
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบปะการังขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในมหาสมุทรแปซิฟิกใกล้กับหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งมีอายุมากกว่า 300 ปี และมีขนาดใหญ่กว่าเจ้าของสถิติเดิมถึง 3 เท่า
KEY
POINTS
- นักวิทยาศาสตร์ค้นพบปะการังขนาดใหญ่ที่สุดในโลกใกล้กับหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งมีอายุมากกว่า 300 ปี ด้วยความยาว 32 เมตร และกว้าง 34 เมตร
- ภาวะโลกร้อนทำให้ปี 2024 โลกสูญเสียปะการังไปจำนวนมาก ดังนั้นการพบปะการังที่อุดมสมบูรณ์และใหญ่โตแห่งนี้เป็นเหมือนสัญญาณแห่งความหวัง
- ข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุว่า 44% ของสายพันธุ์ปะการังโลกเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
สมาชิกทีม Pristine Seas กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานบนเรือวิจัยในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ ของ National Geographic Society องค์กรวิทยาศาสตร์และการศึกษาที่ไม่แสวงหากำไร ค้นพบ “ปะการังขนาดใหญ่” มีความยาว 32 เมตร และกว้าง 34 เมตร ซึ่งคาดว่ามีอายุประมาณ 300 ปี แม้ปะการังชนิดนี้มีสีน้ำตาลเป็นส่วนใหญ่ แต่มีสีเหลืองสดใส สีน้ำเงิน และสีแดงประปราย มีลักษณะเป็นคลื่นเมื่อมองจากด้านบน
สิ่งมีชีวิตชนิดนี้ซึ่งมีเส้นรอบวง 183 เมตร ประกอบด้วยเครือข่ายของ “โพลิป” (Polyp) ตัวของปะการัง โดยพื้นฐานแล้วมีรูปทรงเป็นทรงกระบอก นับพันล้านตัว เมื่อปะการังตัวแรกที่ลงเกาะยึดพื้นแข็ง จะเจริญเติบโตโดยการแบ่งตัว (budding) หรืออาจเรียกว่าแตกหน่อ จนได้เป็นก้อนหรือกอ ซึ่งประกอบด้วยตัวปะการังจานวนมากมาย เรียกว่าโคโลนี (Colony)
ปะการังที่เพิ่งค้นพบใหม่นี้เป็นปะการังเดี่ยว ๆ ที่เติบโตอย่างไม่หยุดยั้งมาหลายร้อยปี แตกต่างจาก “แนวปะการัง” ซึ่งเป็นเครือข่ายของอาณาจักรปะการังจำนวนมาก
ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ปี 2024 โลกสูญเสียปะการังไปจำนวนมาก ซึ่งรวมไปถึงปะการังใน “เกรตแบร์ริเออร์รีฟ” (Great Barrier Reef) แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้นนักวิจัยจึงถือว่า การพบปะการังที่อุดมสมบูรณ์และใหญ่โตแห่งนี้เป็นเหมือนสัญญาณแห่งความหวัง
ปะการังขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีสีสันสดใส ที่อยู่ของสัตว์นานาชนิด
INIGO SAN FELIX / NATIONAL GEOGRAPHIC PRISTINE SEAS / AFP
เอริค บราวน์ นักวิทยาศาสตร์ด้านปะการังจากคณะสำรวจ Pristine Seas ที่หมู่เกาะโซโลมอน กล่าวว่า กลุ่มปะการังโตเต็มวัยขนาดใหญ่เช่นนี้มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการฟื้นตัวของระบบนิเวศแนวปะการัง เนื่องจากมีศักยภาพในการสืบพันธุ์สูง
“แม้ว่าแนวปะการังตื้นบริเวณใกล้เคียงจะเสื่อมโทรมลงเนื่องจากทะเลที่อุ่นขึ้น แต่การได้เห็นโอเอซิสปะการังที่อุดมสมบูรณ์ขนาดใหญ่ในน่านน้ำที่ลึกขึ้นเล็กน้อยนี้ถือเป็นความหวัง” บราวน์กล่าว
ปะการังที่พบนี้เป็นปะการังลายดอกไม้ (Pavona clavus) เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เกราะกำบัง และแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด ตั้งแต่กุ้ง ปู ไปจนถึงปลา ปะการังจึงมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลที่ต้องพึ่งพาปะการังเป็นอาหารและที่พักพิง รวมถึงมนุษย์ด้วย เพราะปะการังเป็นแหล่งอาหารทางอ้อมสำหรับประชากรประมาณ 1,000 ล้านคน และทำหน้าที่เป็นกันชนป้องกันพายุและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
แม้จะมีสีสันและขนาดใหญ่ แต่เมื่อมองด้วยตาเปล่า ปะการังเหล่านี้ดูเหมือนก้อนหินขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ผิวน้ำ ทำให้ในครั้งแรกที่ทีมนักวิจัยพบปะการังชนิดนี้ พวกเขาคิดว่ามันอาจเป็นซากเรืออับปาง จนกระทั่งหนึ่งในทีมดำน้ำลงไปดูใกล้ ๆ ถึงพบว่าแท้จริงแล้วเป็นปะการัง
เอ็นริก ซาลา นักสำรวจประจำ National Geographic และผู้ก่อตั้งทีม Pristine Seas กล่าวว่า “เราคิดว่าไม่มีอะไรเหลือให้ค้นพบอีกแล้วบนโลกใบนี้ แต่เราก็กลับพบปะการังขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยโพลิปเล็ก ๆ เกือบพันล้านตัว ที่เต็มไปด้วยสีสันและมีชีวิตชีวา นี่จึงนับเป็นการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ เช่นเดียวกับการค้นพบต้นไม้ที่สูงที่สุดในโลก”
ปะการังชนิดนี้มีสีน้ำตาลเป็นส่วนใหญ่
INIGO SAN FELIX / NATIONAL GEOGRAPHIC PRISTINE SEAS / AFP
ด้วยขนาดของปะการังที่ขนาดประมาณสนามบาสเก็ตบอล 2 สนามหรือสนามเทนนิส 5 สนาม ทำให้มันกลายเป็นปะการังที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดใหญ่กว่าแชมป์เก่า ปะการังที่รู้จักกันในชื่อ “Big Momma” ที่อยู่ในอเมริกันซามัว ถึง 3 เท่า
“รหัสพันธุกรรมของโพลิปเหล่านี้เปรียบเสมือนสารานุกรมขนาดใหญ่ที่อธิบายถึงวิธีการเอาชีวิตรอดจากสภาพภูมิอากาศต่าง ๆ และจนถึงขณะนี้ก็ยังคงดำรงอยู่ได้แม้ในสภาวะที่น้ำทะเลอุ่นขึ้น” มานู ซาน เฟลิกซ์ ช่างภาพใต้น้ำของ Pristine Seas ผู้พบปะการังคนแรกกล่าว
แม้ว่าปะการังชนิดนี้จะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล แต่ซาลากล่าวว่า ปะการังนี้ก็ “ไม่ปลอดภัย” จากภาวะโลกร้อน
ปะการังมีความเสี่ยงจากปัจจัยในท้องถิ่นหลายประการ รวมทั้งการทำประมงมากเกินไป ซึ่งอาจสร้างความเสียหายและรบกวนสมดุลอันบอบบางของระบบนิเวศ มลพิษและน้ำเสียจากอุตสาหกรรม ที่สำคัญที่สุด คือ วิกฤติภาพอากาศที่เกิดจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่เป็นภัยคุกคามระดับโลก
การค้นพบนี้เกิดขึ้นในขณะที่คณะผู้แทนจาก 200 ประเทศกำลังประชุมกันที่บากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เพื่อร่วมการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติ หรือ COP29 โดยต้องการเพิ่มแรงกดดันให้กับการเจรจาเพื่อควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ามีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนทำให้เกิดผลกระทบเร็วกว่าที่คาดไว้
ในเดือนตุลาคม 2024 นักวิทยาศาสตร์จากสำนักงานบริหารบรรยากาศและมหาสมุทรแห่งชาติ ยืนยันว่าการฟอกขาวของแนวปะการังทั่วโลกเกิดขึ้นบ่อยที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ เนื่องจากอุณหภูมิของมหาสมุทรที่สูงขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนกลายเป็นเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่เป็นครั้งที่ 4 ซึ่งถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่มีมาทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวลว่าแนวปะการังของโลกอาจไปสู่จุดที่ไม่สามารถย้อนกลับได้
ข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุว่า 44% ของสายพันธุ์ปะการังโลกเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
หมู่เกาะโซโลมอน สถานที่ค้นพบปะการังยักษ์ และมีปะการังจำนวนมากเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีปะการังมากกว่า 490 สายพันธุ์ เป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และอยู่ในอันดับที่สองของประเทศที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ
นายกรัฐมนตรีเจเรไมอาห์ มาเนเล แห่งหมู่เกาะโซโลมอนกล่าวว่า “มหาสมุทรให้การดำรงชีพแก่เรา อีกทั้งมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจและชุมชนของประเทศเราอย่างมาก การอยู่รอดของเราขึ้นอยู่กับแนวปะการังที่แข็งแรง ดังนั้นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นนี้จึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปกป้องและรักษาแนวปะการังไว้ให้กับคนรุ่นต่อไป”
ที่มา: Aljazeera, CNN, Euro News, Independent
ปะการังขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ความหวังอนุรักษ์ธรรมชาติยุคทะเลเดือด
INIGO SAN FELIX / NATIONAL GEOGRAPHIC PRISTINE SEAS / AFP