‘คาร์บอนต่ำ’ ทางรอดธุรกิจ เลิกแข่งต้นทุนต่ำ แข่งด้วยคาร์บอนต่ำ

‘คาร์บอนต่ำ’ ทางรอดธุรกิจ เลิกแข่งต้นทุนต่ำ แข่งด้วยคาร์บอนต่ำ

“คลัง” เดินหน้าแปลงภาษีสรรพสามิตน้ำมันเป็นภาษีคาร์บอน “ภาคธุรกิจ” ประกาศแผนลดคาร์บอน “บีไอจี” ชี้ Climate Tech ทางรอดอุตสาหกรรม ธุรกิจไม่แข่งขันด้วยต้นทุนต่ำ แต่แข่งด้วยคาร์บอนต่ำ ปณท.ลดขั้นตอนขนส่งช่วยลดคาร์บอน “เดลต้า” มุ่งเป้าเปลี่ยนไฟฟ้าสีเขียว

“กรุงเทพธุรกิจ” ร่วมกับ บีไอจี จัดงาน Generating a Cleaner Future Forum เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2567 โดยเปิดให้ภาครัฐและภาคเอกชนแลกเปลี่ยนแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะผู้ผลักดันภาษีคาร์บอนระหว่างดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวในหัวข้อ “Carbon Tax: Advantage for Future Growth” ว่า การเก็บภาษีคาร์บอนในไทยไม่ว่าจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้า แต่หลีกหนีไม่พ้น ซึ่งการเก็บภาษีคาร์บอนจะเป็นสิ่งย้ำเตือนและเครื่องมือที่สำคัญ

ทั้งนี้ ไทยประกาศคำมั่นในสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าในปี 2030 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30-40% ในปี 2050 จะมีความเป็นกลางทางคาร์บอน และปี 2065 จะก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้ดูจะเป็นเรื่องไกลตัว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อนคือการบังคับใช้กติกาใหม่ของยุโรปในการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) อีกทั้งประเทศอื่นๆ ที่เตรียมประกาศมาตรการเกี่ยวกับภาษีคาร์บอน เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐ

โดยวันนี้ 6 อุตสาหรรมที่ส่งออกไปยุโรป ได้แก่ เหล็ก อลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน เริ่มส่งรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในอีก 1 ปีข้างหน้า และแน่นอนว่าการเก็บภาษีดังกล่าวจะกระทบต่อผู้ประกอบการไทย

‘คาร์บอนต่ำ’ ทางรอดธุรกิจ เลิกแข่งต้นทุนต่ำ แข่งด้วยคาร์บอนต่ำ

“กลไกเหล่านี้ทำให้ซัพพลายเชนของโลกเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะยุโรปและญี่ปุ่น ที่ต้องการให้ผู้ผลิตในซัพพลายเชนจะต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกำหนดให้ธุรกิจต้องใช้พลังงานสะอาด“

ขณะที่ประเทศไทย ตอนนี้การปล่อยก๊าซเรือนกระจก อยู่ที่ 372 ล้านตันคาร์บอน ประมาณ 70% อยู่ในภาคพลังงาน และการขนส่ง ส่วน 15% ภาคการเกษตร และ 10% เป็นภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ หากในปี 2030 ไม่มีการดำเนินการอะไรเลย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มขึ้นเป็น 555 ล้านตันคาร์บอน

วาง 3 กรอบแนวคิดลดปล่อยคาร์บอน

นายเอกนิติ กล่าวว่า เมื่อมีสนธิสัญญาระหว่างประเทศ กรมสรรพสามิตจึงจะเดินหน้าจัดเก็บภาษีคาร์บอนที่ทำได้ทันที ซึ่งเป็นกลไกภาคบังคับ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ดีที่สุด การเดินหน้าภาษีคาร์บอนนั้น ดำเนินการภายใต้ 3 แนวคิด ได้แก่

1. ผู้ประกอบการ สามารถหักกลบกับ CBAM ได้ เพื่อดูแลเอกชนที่ส่งออก เน้นความเป็นธรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ให้ซ้ำซ้อน กับภาษีที่จัดเก็บอยู่แล้ว 2. ไม่กระทบภาคประชาชน และ 3. ภาครัฐต้องมีธรรมาภิบาล มีกฎหมายที่ชัดเชน

“ไทยประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30-40% ในปี 2030 แต่วันนี้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไทยยังเป็นภาคสมัครใจ ซึ่งไม่มีราคากลางคาร์บอนเครดิต รวมทั้งยังไม่มีกฎหมายภาคบังคับ ฉะนั้น สิ่งที่สรรพสามิตสามารถทำได้เลยทันที คือ การแปลงภาษีสรรพสามิตน้ำมันมาใช้ในการจัดเก็บภาษีคาร์บอน“

สำหรับภาษีคาร์บอนนั้น สรรพสามิตใช้โมเดลของญี่ปุ่น โดยใช้ภาษีน้ำมันเชื่อมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งให้ภาษีคาร์บอนอยู่ในนั้น และมีแนวคิดเสนอใช้ราคา 200 บาทต่อตันคาร์บอน เช่น น้ำมันดีเซล 1 ลิตร ปล่อยคาร์บอน 0.0027 คูณกับราคาคาร์บอน 200 บาท เท่ากับ 0.55 บาทต่อลิตร โดย 55 สตางค์ แฝงอยู่ใน 6.44 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ระยะแรกไม่กระทบประชาชนแต่จะสร้างความตระหนักรู้ โดยกรมสรรพสามิตร่วมมือผู้ขายปลีกน้ำมันเพื่อให้ข้อมูลทุกครั้งที่เติมน้ำมันว่าปล่อยคาร์บอนเท่าใด ขณะที่ผู้ประกอบการที่ซื้อน้ำมันไปหลอมเหล็กเพื่อส่งออกไปยุโรปจะนำใบเสร็จไปหักกลบกับ CBAM ได้

Climate Tech ทางรอดอุตสาหกรรม

นายปิยุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี กล่าวในหัวข้อ Generating a Cleaner Future ว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมไทยถดถอยอย่างน่าใจหาย ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมไทยพยายามลดต้นทุนจนไม่ลดอะไรได้อีกแล้ว และเพิ่มผลผลิต แต่การเติบโตไม่ขยับขึ้น ในเดือน ก.ย.2567 อุตสาหกรรมไทยหดตัว 3%

ขณะที่อนาคตอุตสาหกรรมไทยยังต้องเผชิญความท้าทายไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนอลด์ ทรัมป์ สมัยที่ 2 ซึ่งนำไปสู่การกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น รวมถึงความท้าทายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและต้นทุนพลังงานที่ผันผวน

‘คาร์บอนต่ำ’ ทางรอดธุรกิจ เลิกแข่งต้นทุนต่ำ แข่งด้วยคาร์บอนต่ำ

ทั้งนี้ อนาคตอุตสาหกรรมไทยยังเผชิญกับความท้าทาย 3 เรื่อง คือ1.ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ นำไปสู่สงครามการค้า การตั้งกำแพงภาษี ทำให้สินค้าจีนล้นทะลักมาในไทย 2.การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี อาทิ AI, Digital และ Data ใครที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้จะได้เปรียบขณะที่คนที่เข้าถึงไม่ได้จะเสียเปรียบ และ 3.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนภาคการผลิตขึ้นอย่างมาก

“วันนี้มีเพียงธุรกิจน้อยรายที่ยังขยายตัวได้ ซึ่งบีไอจีเชื่อว่า Climate Technology จะช่วยเปลี่ยนแปลงความท้าทายให้เป็นโอกาสได้”

“บีไอจี” มุ่งเป้าลดคาร์บอนภาคธุรกิจ

นายปิยบุตร กล่าวว่า การเติบโตของธุรกิจที่ยั่งยืนแท้จริงต้องคำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสร้างโอกาสให้สังคม และชุมชน โดยบีไอจีในฐานะบริษัทลูกของ แอร์โปรดักส์ (Air Products) ผู้ดำเนินธุรกิจก๊าซอุตสาหกรรมระดับโลกมีเป้าหมายเป็นพาร์ทเนอร์ภาคอุตสาหกรรมผ่านเทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพ (Climate Technology) อาทิ

1.Carbon Capture เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่บีไอจีกำลังพัฒนาและจะนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยเร็ว ๆ นี้ 

2.Hydrogen Economy ไฮโดรเจนจะเป็นเศรษฐกิจใหม่ที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมปลดปล่อยคาร์บอนต่ำลง 

3.Low Carbon Applications เครื่องมือในการนำก๊าซอุตสาหกรรมไปใช้ซึ่งปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ

4.Carbon Management Platform แพลตฟอร์มบริหารการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่มีเอไอช่วยคำนวณ ติดตามและวิเคราะห์การปล่อยก๊าซคาร์บอนเพื่อวางแผนการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

5.Bio, Circular, Green การพัฒนาพลังงานชีวมวลในประเทศ

“จากนี้ไปการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมจะไม่ใช่การแข่งขันที่ต้นทุนต่ำ แต่จะเป็นการแข่งขันการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งใคร Climate Tech จะเป็นตัวเปลี่ยนเกม โดยบีไอจีพร้อมเป็นตัวช่วยวางแผนกลยุทธ์เทคโนโลยีที่เหมาะสมตามโรดแมปลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมเพื่อบรรลุเน็ตซีโร่"

สนพ.ชี้ภาคพลังงานมีบทบาทสำคัญ

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวในหัวข้อ “Energy Strategy to Net Zero” ว่า ภาคพลังงานจะมีบทบาทสำคัญในการเตรียมพลังงานสะอาดให้มากที่สุด เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนระจกสุทธิเป็นศูนย์

สำหรับสัดส่วนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจะต้องเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น จากปัจจุบันที่ใช้ก๊าซธรรมชาติคิดเป็น 58% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด และพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 10% ซึ่งเป้าหมายต้องเพิ่มสัดส่วนนี้ให้มากถึง 40-50% และลดใช้ก๊าซลง

‘คาร์บอนต่ำ’ ทางรอดธุรกิจ เลิกแข่งต้นทุนต่ำ แข่งด้วยคาร์บอนต่ำ

ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงวางนโยบายการปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานของประเทศ โดยการวางกลยุทธ์และกติกาที่มุ่งไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมายเน็ตซีโร่ ประกอบด้วย การลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน โดย คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติกรอบแผนพลังงานชาติปี 2567-2580 และจะมีผลบังคับใช้ไตรมาส 1 ปี 2568

“ปณท.” ลดขั้นตอนขนส่งช่วยลดคาร์บอน

ดร.วราภรณ์ ข้องเกี่ยวพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานกลยุทธ์และการขับเคลื่อนองค์กร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวเสวนาในหัวข้อ “Growth Opportunity in Climate Challenge”ว่า ธุรกิจประเภทขนส่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงมาก ซึ่งไปรษณีย์ไทยเป็นธุรกิจใหญ่ มีเครือข่ายรับฝาก ส่งต่อ และนำจ่ายพัสดุทั่วประเทศในจำนวนมาก โดยเริ่มโครงการลดคาร์บอนเพื่อลดความซ้ำซ้อนของงานขนส่งและนำจ่าย รวมไปถึงริเริ่มการนำยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จำนวน 250 คันมาใช้ขนส่งพัสดุ

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ไปรษณีย์ไทยมีความถี่ในการรับฝาก ส่งต่อ และนำจ่ายพัสดุในพื้นที่เดียวกันเฉลี่ย 3 ครั้งต่อวัน ทำให้ต้องมีเจ้าหน้าที่ที่หลากหลายเข้าพื้นที่เดียวกันแบบซ้ำซ้อน และก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมาก และปัจจุบันเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 65-66 โดยลดความซ้ำซ้อนดังกล่าว จัดการทำงานของเจ้าหน้าที่ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์เหลือ 1 คน ทำให้ลดการใช้น้ำมันไป 33% ลดค่าใช้จ่าย 3%

“การลงทุนทำเรื่องกรีน ช่วงแรกมีต้นทุน แต่ไปรษณีย์ไทยเราเชื่อว่าระยะยาวจะคุ้มค่า เกิดความยั่งยืนในอนาคต และตอบโจทย์ลูกค้า ซึ่งเป้าหมายของเราคือการผลักดันกรีนโลจิสติกส์ ใช้รถอีวี และอนาคตคงมองไปถึงการใช้ไฮโดรเจน”

“เดลต้า” มุ่งเป้าเปลี่ยนพลังงานสีเขียว

นายสาโรช เรืองสกุลราช ผู้จัดการอาวุโสด้านพลังงาน บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันเดลต้ามีโรงงาน 9 แห่ง ทั้งปีผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 1.5 แสนตันต่อปี ซึ่งเดลต้ามีเป้าหมายเปลี่ยนพลังงานต่างๆ เป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการส่วนของการติดตั้งโซลาร์เซลล์ และยังมีเสียงสะท้อนจากคู่ค้าทั่วโลกที่ต้องการให้เดลต้าทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100%

“เดลต้าเป็นธุรกิจที่ขยายตัวไปทั่วโลก หากไม่ดำเนินการเรื่องพลังงานสีเขียว วันนี้เราอาจจะเสียโอกาส เพราะในช่วงภาวะโลกร้อนเห็นได้ว่าเกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยี จนมีรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้เราสามารถพัฒนาสินค้าไปเพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าได้"

‘คาร์บอนต่ำ’ ทางรอดธุรกิจ เลิกแข่งต้นทุนต่ำ แข่งด้วยคาร์บอนต่ำ ถ้า

“อาบิโก” รับลดคาร์บอนเป็นเป้าท้าทาย

นายเย็บ ซู ชวน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาปิโก ไฮเทค (AH) กล่าวว่า การเดินหน้าลดคาร์บอนเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย และเป็นเป้าหมายของบริษัท เพราะหากวันนี้ภาคธุรกิจยังไม่เริ่มปรับตัวลดคาร์บอน ความสามารถทางการแข่งขันกับคู่แข่งก็จะลดลง และจะส่งผลต่อต้นทุนทางภาษีคาร์บอน อีกทั้งจะได้รับแรงกดดันจากซัพพลายเออร์ ดังนั้นตอนนี้จึงเป็นเรื่องที่ควรทำ 

โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมกับ BIG นำนวัตกรรมก๊าซอาร์กอนคาร์บอนต่ำมาใช้ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อผลักดันเป้าหมายเดียวกันคือลดคาร์บอนในกระบวนการผลิตต่างๆ

ภาคธุรกิจต้องผนึกความร่วมมือ

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายพิเศษ “Low Carbon and Resilient Business towards Thailand Sustainability” ว่า โจทย์ที่ต้องเดินหน้าในขณะนี้ คือ Sustainability ทำอย่างไรให้ไทยยั่งยืน เดินหน้าด้วย Low Carbon และ Resilient สร้างภูมิคุ้มกันให้ยั่งยืน

ทั้งนี้ ไทยจะยั่งยืนต้องผสมผสานความร่วมมือระหว่างกันทั้งธุรกิจ และผู้บริโภค หากเรื่องพวกนี้ไปด้วยกันไม่ได้ ก็จะเผชิญปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างต่อเนื่องสำหรับกลไกสู่ความสำเร็จ

“วันนี้ภาคธุรกิจ คือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนนี้ เพราะภาคธุรกิจคิดเป็น 80% ของ GDP ดังนั้นต้องปรับและความสำคัญกับเรื่องนี้ หากวันนี้ภาครัฐจะขับเคลื่อนเรื่องลดคาร์บอน ก็คงมองมาที่ภาคธุรกิจก่อนเป็นส่วนแรก ซึ่งจะได้รับผลกระทบถ้าไม่เริ่มปรับตัว”