‘เอกนิติ‘ ย้ำกลไกภาษีคาร์บอน หนุนผู้ประกอบการไทยปรับตัว ไม่กระทบประชาชน
“เอกนิติ” ระบุไทยเตรียมบังคับใช้ภาษีคาร์บอน กำหนดราคา 200 บาทต่อตันคาร์บอน กลไกหนุนผู้ประกอบการไทยไม่ถูกเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อน ชี้ช่วงแรกไม่กระทบประชาชน ดันไทยบรรลุเป้าหมายเน็ตซีโร่
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะผู้ผลักดันเรื่องภาษีคาร์บอน ระหว่างดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวในหัวข้อ “Carbon Tax: Advatage for Future Growth” ในงานสัมนา "Generating a Cleaner Future" จัดโดยบีไอจี และกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 ว่า การเก็บภาษีคาร์บอนในประเทศไทยไม่ว่าจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้า แต่ก็เป็นเรื่องที่หลีกหนีไม่พ้น เพราะในวันนี้เราเห็นแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนำมาซึ่งภัยพิบัติที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
ยกตัวอย่างเหตุการณ์น้ำท่วมที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ไม่นานเมื่อล้างคราบโคลนจนหมด คนก็จะลืมว่าเคยเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งการเก็บภาษีคาร์บอนจะเป็นสิ่งย้ำเตือนและเครื่องมือที่ทำให้คนตระหนักถึง
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ประกาศคำมั่นในสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าในปี 2030 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30-40% ในปี 2050 จะมีความเป็นกลางทางคาร์บอน และในปี 2065 จะก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้ดูจะเป็นเรื่องไกลตัว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อนคือการบังคับใช้กติกาใหม่ของยุโรปในการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) อีกทั้งประเทศอื่นๆ ที่เตรียมประกาศมาตรการเกี่ยวกับภาษีคาร์บอน เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐ
โดยวันนี้ 6 อุตสาหรรมที่ส่งออกไปยุโรป ได้แก่ เหล็ก อลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน เริ่มส่งรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในอีก 1 ปีข้างหน้า และแน่นอนว่าการเก็บภาษีดังกล่าวจะกระทบต่อผู้ประกอบการไทย
“กลไกเหล่านี้ทำให้ซัพพลายเชนของโลกเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะยุโรปและญี่ปุ่น ที่ต้องการให้ผู้ผลิตในซัพพลายเชนจะต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกำหนดให้ธุรกิจต้องใช้พลังงานสะอาด"
ขณะที่ประเทศไทย ตอนนี้การปล่อยก๊าซเรือนกระจก อยู่ที่ 372 ล้านตันคาร์บอน ประมาณ 70% อยู่ในภาคพลังงาน และการขนส่ง ส่วน 15% ภาคการเกษตร และ 10% เป็นภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ หากในปี 2030 ไม่มีการดำเนินการอะไรเลย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มขึ้นเป็น 555 ล้านตันคาร์บอน
นานเอกนิติ กล่าวว่า เมื่อมีสนธิสัญญาระหว่างประเทศ กรมสรรพสามิตจึงจะเดินหน้าจัดเก็บภาษีคาร์บอน โดยสามารถทำได้ทันที ซึ่งเป็นกลไกภาคบังคับ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าภาษีคาร์บอนนั้น ดำเนินการภายใต้ 3 แนวคิด ได้แก่
1. ผู้ประกอบการ สามารถหักกลบกับ CBAM ได้ เพื่อดูแลเอกชนที่ส่งออก เน้นความเป็นธรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ให้ซ้ำซ้อน กับภาษีที่จัดเก็บอยู่แล้ว
2. ไม่กระทบภาคประชาชน
3. ภาครัฐต้องมีธรรมาภิบาล มีกฎหมายที่ชัดเชน
“ประเทศไทยประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30-40% ในปี 2030 แต่วันนี้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเทศไทยยังเป็นภาคสมัครใจ ซึ่งไม่มีราคากลางคาร์บอนเครดิต รวมทั้งยังไม่มีกฎหมายภาคบังคับ ฉะนั้น สิ่งที่สรรพสามิตสามารถทำได้เลยทันที คือ การแปลงภาษีสรรพสามิตน้ำมันมาใช้ในการจัดเก็บภาษีคาร์บอน"
สำหรับภาษีคาร์บอนนั้น สรรพสามิตใช้โมเดลของประเทศญี่ปุ่น ใช้ภาษีน้ำมันเชื่อมโยงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยให้ภาษีคาร์บอนอยู่ในนั้น และมีแนวคิดที่จะเสนอใช้ราคา 200 บาทต่อตันคาร์บอน เช่น น้ำมันดีเซล 1 ลิตร ปล่อยคาร์บอน 0.0027 คูณกับราคาคาร์บอน 200 บาท เท่ากับ 0.55 บาทต่อลิตร โดย 55 สตางค์นั้นแฝงอยู่ใน 6.44 บาทต่อลิตร
ซึ่งระยะแรกไม่ได้มีผลกระทบต่อประชาชนเบื้องต้น แต่จะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ โดยกรมสรรพสามิตจะร่วมมือกับผู้ขายปลีกน้ำมันต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลประชาชนทุกครั้งที่เติมน้ำมัน ว่าปล่อยคาร์บอนไปเท่าใด ขณะที่ผู้ประกอบการที่ซื้อน้ำมันไปหลอมเหล็ก เพื่อส่งออกไปยังยุโรป จะสามารถนำใบเสร็จไปหักกลบกับ CBAM ได้
“จากตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 372 ล้านตันคาร์บอน ในนั้นเป็นภาษีสรรพสามิตที่เก็บอยู่แล้ว ประมาณ 37% ฉะนั้น การแปลงภาษีให้เชื่อมโยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบีบให้ภาคธุรกิจปล่อยคาร์บอนลดลง เช่นเดียวกันกับการจัดเก็บภาษีรถยนต์ เฟสแรกเราจะไม่ให้กระทบประชาชน ในช่วงปี 2025-2026 ส่วนอนาคตที่ประเทศไทยพร้อม หรือถูกบีบจากนานาชาติสามารถขยับจากส่วนนี้ได้ทันที”
นายเอกนิติ กล่าวว่า สุดท้ายแล้วภาคธุรกิจจะต้องมองหาโอกาส จากการบรรลุเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อต้นทุนต่ำ ต้นทุนการผลิตที่ถูกลง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน