จุดยืนไทยบนเวที COP29 ความช่วยเหลือการเงินต้องเข้าถึงได้
การแถลงการณ์ระดับชาติช่วยให้ทุกประเทศสามารถนำเสนอจุดยืนและคำมั่นสัญญาได้ มีเสียงในการสนทนาสภาพภูมิอากาศ ช่วยรักษาแรงผลักดันทางการเมืองและความสนใจของสาธารณชน กระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการตามคำมั่นสัญญาและดำเนินการที่เป็นรูปธรรม
การประชุมระดับสูง (Resumed High-level Segment) ของ COP29 ได้จัดขึ้นอีกครั้งที่ Plenary Hall Nizami ในกรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน โดยมีผู้นำประเทศจำนวนมากที่ไม่ได้กล่าวคำแถลงในช่วงการประชุมระดับสูง เพื่อการสุดยอดด้านการดำเนินการเพื่อสภาพภูมิอากาศของผู้นำโลกในวันที่ 12-13 พ.ย. 2024 โดยแต่ละชาติจะกล่าวคำแถลงประจำชาติของตนที่เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและความร่วมมือ
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด และที่ผ่านมาได้เผชิญกับภัยพิบัติด้านสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงเศรษฐกิจและความหลากหลายทางชีวภาพ ในขณะที่ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของทั้งโลก
แต่ยังคงมุ่งมั่นยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเต็มความสามารถ บนหลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง เพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกตามกรอบ NDC 2030 ให้ได้ 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากการดำเนินงานใน 5 สาขา ได้แก่ พลังงาน คมนาคม การจัดการของเสียชุมชนและน้ำเสียอุตสาหกรรม กระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และการเกษตร
โดยมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนเพื่อรองรับการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งเร่งดำเนินงานไปสู่ NDC 3.0 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ต่ำกว่า 270 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2035 จากปีฐาน 2019 มุ่งสู่การลดก๊าซเรือนกระจกจากค่าการปล่อยจริง ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนการลงทุนสีเขียว รวมถึงเร่งเพิ่มการดูดกลับของภาคป่าไม้ให้ได้ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2037
ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยได้มุ่งเน้นบูรณาการแผนการปรับตัวระดับชาติ ให้เชื่อมโยงกับการดำเนินงานระดับท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมใน 6 สาขา ได้แก่ การจัดการน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว การสาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์
โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าในระดับพื้นที่ รวมไปถึงการเร่งฟื้นฟูและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง และที่สำคัญได้ขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในทุกระดับอย่างเป็นระบบและบูรณาการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายภายใต้ความตกลงปารีส ด้วยการผลักดันกลไกความเป็นหุ้นส่วนภาครัฐ เอกชนและประชาชน
โดยการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย 2024 เพื่อเสริมพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อีกทั้งเร่งผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างการดำเนินงานอย่างสมดุล ทั้งด้านกลไกราคาคาร์บอน และกองทุนการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ที่มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน
สำหรับความก้าวหน้าของไทยในช่วงสัปดาห์แรกไทยมีความก้าวหน้าผลการเจรจาในสัปดาห์แรกของการประชุม COP29 มีประเด็นสำคัญ 10 ประเด็น ดังนี้
1. เป้าหมายทางการเงินครั้งใหม่ (New Collective Quantified Goal: NCQG) เพื่อระบุจำนวนเงินต่อปีที่ชัดเจนความโปร่งใสของการสนับสนุน และการเข้าถึงได้ง่ายของประเทศกำลังพัฒนา
2. การทบทวนสถานการณ์ และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) เพื่อจัดทำในครั้งที่ 2 และเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่การจัดทำ NDC 2035 และการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศสมาชิก
3. การกำหนดตัวชี้วัดเพื่อขับเคลื่อนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามเป้าหมายระดับโลก
4. การเร่งสร้างกติกา และกลไกดำเนินงานของกองทุนจัดการความสูญเสีย และความเสียหาย (Loss and Damage Fund)
5. การหาข้อสรุปให้เกิดความร่วมมือ และกลไกที่เอื้ออำนวยการดำเนินงานระหว่างภาคีด้านคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส
6. การสร้างช่องทางออนไลน์เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภาคเกษตรด้านวิชาการ และสนับสนุนทางการเงิน
7. การเสริมพลังเครือข่ายขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ (Action for ClimateEmpowerment: ACE)
8. การกำหนดสาระของรายงานผลความคืบหน้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสองปี ที่ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องจัดส่งภายในสิ้นปี ค.ศ.2024
9. การขับเคลื่อนศักยภาพลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น โดยเร่งถ่ายทอดเทคโนโลยี และสนับสนุนทางการเงินจากประเทศพัฒนาแล้ว
10. การสร้างกลไกขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ คณะผู้แทนไทยจะมีการรวมทั้งรวบรวม และจัดทำสรุปผลการประชุม COP29 เพื่อเผยแพร่ในวันสิ่งแวดล้อมไทย วันที่ 4 ธ.ค. 2567 ต่อไป
นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้หารือร่วมกับ นายเฮนรี่ กอนซาเลซ Chief Investment Officer ของกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (GCF) เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2568 ระหว่างการประชุม COP29
สำหรับการหารือครั้งนี้ทั้ง 2 ฝ่ายได้เจรจาถึงแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ภายใต้ Thailand Country Programme ในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยเฉพาะประเด็นความชัดเจนเกี่ยวกับการเพิ่มโอกาสให้ไทยได้รับสนับสนุนทางการเงินมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการดำเนินโครงการ และการเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปสู่การลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Investment)
พร้อมทั้งเร่งรัดติดตามการขอรับการรับรองเป็นหน่วยงานปฏิบัติการระดับชาติของหน่วยงานไทย ทั้งนี้ ผลจากการหารือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดทิศทาง และแนวทางที่ชัดเจนในการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียวต่อไป
นายพิรุณ กล่าวว่า ความคาดหวังจาก COP29 ในเรื่องเงินจากกองทุน หวังว่าจะมีการจัดสรรเงินทุนที่ไทยเข้าถึงได้ และสำหรับ NDC 3.0 ไทยเสนอเรื่องการยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้สูงขึ้นถึง 60% แต่ในฐานะประเทศกำลังพัฒนา ไทยต้องการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วมันอาจส่งผลให้ปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้การลดก๊าซเรือนกระจกของเรา จะเปลี่ยนจากวิธีการเดิมที่ลดจากค่าการคาดการณ์ในอนาคต (Business As Usual - BAU) ซึ่งเป็นวิธีที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นใช้เป็นส่วนใหญ่ ไปสู่รูปแบบการลดก๊าซเรือนกระจก โดยลดจากปริมาณการปล่อยจริงเทียบกับปี 2019 และไม่ใช้วิธีการเทียบกับ BAU อีกต่อไป
รวมทั้งจะแสวงหาความร่วมมือเพิ่มเติมจากรัฐบาลต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศในการดึงการสนับสนุนเข้ามาในไทย ส่วนเรื่องการเจรจาเพื่อให้มั่นใจว่าเงื่อนไขของกองทุนความสูญเสีย และความเสียหายนั้น ไทยต้องสามารถขอรับการสนับสนุนทางการเงินได้