เปิดแผนลดโลกร้อนประเทศเพื่อนบ้านใน COP29 ชิงส่วนแบ่งเงินทุนสีเขียว

เปิดแผนลดโลกร้อนประเทศเพื่อนบ้านใน COP29 ชิงส่วนแบ่งเงินทุนสีเขียว

"กัมพูชา" ชูแผน Circular เวียดนามเรียกร้องประเทศพัฒนาแล้วบริจาคปีละ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ช่วยประเทศกำลังพัฒนา "มาเลเซีย" ยกร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ "เวียดนาม" ตั้งเป้าท้าทายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

KEY

POINTS

  • กัมพูชาชูยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมแบบหมุนเวียน (Circular) ปี 2023-2028
  • มาเลเซียตั้งเป้า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 45%
  • เวียดนามจะเพิ่มการลดก๊าซเรือนกระจก 27% หากได้รับการสนับสนุนทางการเงินและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
  • ไทยมุ่งลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 43% จากเป้าหมาย 30-40%

 

"กรุงเทพธุรกิจ" เกาะติดสถานการณ์ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 29 (COP29) กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน โดยในงานได้มีช่วงเวลาสำคัญเมื่อผู้แทนจากประเทศในอาเซียนขึ้นเวที High-Level Segment โดยล่าสุดผู้นำจากกัมพูชา มาเลเซีย และเวียดนามได้กล่าวสุนทรพจน์ ที่เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นและกลยุทธ์ของประเทศในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และข้อเรียกร้อง

กัมพูชา

นายโสพัลเลธ เอี้ยง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของกัมพูชา กล่าวว่า กัมพูชาได้ยืนยันถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าต่อเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด แต่กัมพูชาต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำท่วม คลื่นความร้อน การเสื่อมโทรมของที่ดิน และความเปราะบางที่เพิ่มขึ้น

เพื่อตอบสนองต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก กัมพูชาได้ตั้งคำมั่นสัญญาใน NDC (Nationally Determined Contribution) ที่ปรับปรุงในปี 2020 และมุ่งมั่นที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2050 นอกจากนั้น มียุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมแบบหมุนเวียน (Circular) ปี 2023-2028 โดยหนึ่งในความสำเร็จของยุทธศาสตร์นี้คือ แคมเปญต่อต้านพลาสติก

ได้ลดใช้ถุงพลาสติกและทำความสะอาดขยะพลาสติกจากพื้นที่สาธารณะ มีผู้เข้าร่วมกว่า 9.7 ล้านคน คิดเป็น 50% ของประชากรกัมพูชาทั้งประเทศ และแคมเปญปลูกต้นไม้กว่า 1 ล้านต้น นอกจากนี้ ยังได้เริ่มแคมเปญปลูกต้นไม้โดยเริ่มปลูกต้นไม้มากกว่าหนึ่งล้านต้นเป็นปีแรก และเพิ่มจำนวนทุกปีเพื่อขยายพื้นที่ป่าไม้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นกลางภายในปี 2050

กัมพูชาได้ใช้คู่มือการดำเนินการใหม่ตาม Paris Agrement ข้อ 6 และกำลังทำงานอย่างแข็งขันในการขยายโอกาสทางการตลาดคาร์บอนใน 6 ภาค ได้แก่ พลังงาน อุตสาหกรรม สารละลาย เกษตรกรรม ป่าไม้ และการจัดการขยะ

“เราของให้ COP29 เร่งการดำเนินเป้าหมายการเพิ่มการเงินด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อดำเนินการตามแผน NDC และกลยุทธ์ระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก (SIDS) และเราขอเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซมากที่สุดเพิ่มความมุ่งมั่นทางการเงินในการช่วยเหลือพวกเรา เกินกว่า 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นอกจากนี้ ควรดำเนินการใช้รูปแบบที่ง่ายขึ้นสำหรับการเข้าถึงกองทุนภูมิอากาศสีเขียว

มาเลเซีย

นายนิค นาซมี บิน นิค อาหมัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของมาเลเซีย กล่าวว่า มาเลเซียได้เปิดตัวนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ NDC 2.0 ในปีนี้

โดยระบุแนวทางสู่การบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 45% ของความเข้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเศรษฐกิจภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับระดับปี 2005 นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 โดยจะส่งมอบรายงานนี้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2024

"เรากำลังดำเนินการผ่านพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการกำกับดูแลด้านสภาพภูมิอากาศและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติตามพันธกรณีอื่นๆ ภายใต้ข้อตกลงปารีส นอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างการจัดทำข้อตกลงระดับชาติเพื่อปฏิบัติการตามข้อ 6 ของข้อตกลงปารีส เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น"

ทั้งนี้ มาเลเซียมุ่งมั่นที่จะเรียกเก็บภาษีคาร์บอนในปี 2026 ได้เปลี่ยนจากการอุดหนุนแบบครอบคลุมมาเป็นการอุดหนุนเป้าหมายในด้านไฟฟ้าและเชื้อเพลิง เพื่อให้คนรวยไม่ได้รับการอุดหนุนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก โดยมี 20% ของสัตว์ทั้งหมด ป่าที่มีอายุกว่า 100 ล้านปี และเป็นส่วนหนึ่งของสามเหลี่ยมปะการัง มาเลเซียมุ่งมั่นที่จะจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของเราอย่างยั่งยืน แม้ว่ามาเลเซียจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า 1% ของการปล่อยก๊าซทั่วโลก แต่ก็ยังคงยึดมั่นในหลักการความรับผิดชอบร่วมในช่วงเวลาวิกฤตนี้

"โลกกำลังอยู่ที่ทางแยกในบริบทของการระดมทุนด้านสภาพภูมิอากาศ NCQG และขาดความเข้าใจร่วมกัน แต่ในทางตรงข้ามประเทศพัฒนาใช้จ่ายเงินนับล้านล้านดอลลาร์ในการทำสงครามและความขัดแย้ง ขณะที่ประเทศทางใต้ถูกปฏิเสธเงินทุนเพิ่มขึ้น"

อย่างไรก็ตาม มาเลเซียตระหนักว่าประเทศไม่สามารถต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ด้วยตัวเอง การยอมรับความเป็นพหุภาคีเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเรามารวมตัวกันที่นี่ เราจำเป็นต้องรับรู้ว่าความก้าวหน้าในการเจรจาของเราต้องก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมากขึ้น เพราะเวลามีความสำคัญยิ่ง เมื่อเรามองไปข้างหน้าถึงการสิ้นสุดของ COP29 เราคาดหวังที่จะกำหนดเส้นทางที่ชัดเจนและทะเยอทะยานที่จะมีผลต่อการเจรจา

เวียดนาม

นายทาน เล กง รองรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเวียดนาม กล่าวว่า ปี 2024 มีแนวโน้มที่จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ ความร้อนจัด น้ำท่วม และพายุไซโคลนเขตร้อนได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก รวมถึงเวียดนาม ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโลก

เวียดนามได้บูรณาการมาตรการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการดำเนินการตาม NDC ของเราเข้ากับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ระยะยาวนี้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยในปี 2024 เวียดนามมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ถึง 9% เมื่อเทียบกับระดับปี 2010 และเพิ่มขึ้นเป็น 27% ภายในปี 2030 หากได้รับการสนับสนุนทางการเงินและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

ในการประชุมครั้งนี้ เวียดนามเสนอให้ประเทศพัฒนาแล้วปฏิบัติตามแผนความรับผิดชอบ เพื่อบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2040 ซึ่งเร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนั้น ระดับของการสนับสนุนทางการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศควรถึงหนึ่งล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปีจนถึงปี 2030 เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้

กรอบการเจรจาของไทยที่ COP29

1. การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อการบรรลุ NDC 2030 ซึ่งคาดว่าสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 43% จากเป้าหมาย 30-40% คิดเป็น 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

2. การขับเคลื่อนแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการประเด็นการปรับตัวฯ เข้าสู่แผน และยุทธศาสตร์ในรายสาขา และในพื้นที่ รวมถึงการจัดทำข้อมูลด้านภูมิอากาศ และข้อมูลความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับประเทศ

3. การเร่งผลักดัน พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

4. ตัวอย่างการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้เป็นรูปธรรม จากการประชุมภาคีขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 (Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024)

5. การจัดส่งรายงานความโปร่งใสรายสองปี ซึ่งประเทศไทยกำหนดให้สามารถจัดส่งได้ภายในเดือนธันวาคม 2567 ตามกำหนดเวลา