ข้อตกลงประวัติศาสตร์ COP29 เปิดตัวตลาดคาร์บอนเครดิตทั่วโลก
"กรุงเทพธุรกิจ" เกาะติดสถานการณ์ COP29 นานาประเทศได้มีการตกลงกันในกฎใหม่สำหรับตลาดคาร์บอนระหว่างประเทศ ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาที่เข้มข้นในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก
แต่ละตันของคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ถูกลดหรือกำจัดออกจากชั้นบรรยากาศ มีส่วนอย่างมากและต่อการประหยัดค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ คาร์บอนเครดิตเป็นเครื่องจูงใจทางการเงินแก่บริษัทและประเทศต่างๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กระตุ้นให้มีการนำเทคโนโลยีและวิธีปฏิบัติที่สะอาดกว่าเข้ามาใช้ นอกจากนั้น รายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตสามารถนำไปลงทุนในโครงการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น พลังงานทดแทน การปลูกป่าใหม่ และการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
คาร์บอนเครดิตและข้อตกลงปารีส
คาร์บอนเครดิตเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2015 ข้อตกลงนี้มุ่งหวังให้มีระบบการซื้อขายคาร์บอนข้ามพรมแดนที่ควบคุมได้ เพื่อให้ประเทศต่างๆ สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซของตนเองได้ด้วยการซื้อเครดิตจากประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเกินเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม การทำให้ระบบนี้สามารถปฏิบัติได้จริงใช้เวลานาน และเพิ่งจะเสร็จสมบูรณ์ในการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศ COP29
มาตรา 6 ของข้อตกลงปารีสกำหนดกรอบการทำงานสำหรับการซื้อขายคาร์บอน ทำให้ประเทศต่างๆ สามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อตอบสนองต่อการตั้งมั่นที่ได้กำหนดไว้ใน Nationally Determined Contributions (NDCs) กฎใหม่นี้อนุญาตให้ประเทศที่มีการปล่อยก๊าซมากสามารถซื้อเครดิตการชดเชยคาร์บอนจากประเทศกำลังพัฒนาได้
คาดว่าประโยชน์ที่เป็นไปได้ จะเกิดลดต้นทุนการดำเนินการตามแผนสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NDCs) ได้ถึง 250 พันล้านดอลลาร์ต่อปี และส่งเสริมให้ประเทศต่าง ๆ นำเงินที่ประหยัดได้ไปลงทุนในความทะเยอทะยานด้านสภาพภูมิอากาศมากขึ้น
ทั้งนี้ ระยะเวลาในการดำเนินการกฎใหม่มีกำหนดจะดำเนินการในไม่ช้า โดยตลาดมาตรา 6.4 ที่นำโดย UN คาดว่าจะเปิดตัวได้เร็วที่สุดในปีหน้า
มาตราการที่ลุล่วงใน COP29
การพัฒนาที่สำคัญเกี่ยวกับตลาดคาร์บอนในการประชุมสุดยอด COP29 ซึ่งนับเป็นข้อตกลงประวัติศาสตร์ มีดังนี้
การยอมรับ Paris Agreement มาตรา 6 (Article 6) ข้อตกลงนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างตลาดคาร์บอนที่น่าเชื่อถือและโปร่งใสเพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือกันในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ โดยมีตลาด 2 ประเภท คือ Article 6.2 และ Article 6.4
มาตรา 6.2 แนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศ (Cooperative approaches)
- การซื้อขายทวิภาคี : มาตรานี้อนุญาตให้มีการทำข้อตกลงทวิภาคีโดยตรงระหว่างสองประเทศสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
- ระบบกระจายศูนย์ : เป็นระบบที่กระจายศูนย์ หมายความว่าประเทศที่เกี่ยวข้องจะจัดการข้อตกลงและการรายงานด้วยตนเอง
- ผลลัพธ์การบรรเทาผลกระทบที่โอนระหว่างประเทศ (ITMOs) : คาร์บอนเครดิตที่ซื้อขายภายใต้ระบบนี้เรียกว่า ITMOs
มาตรา 6.4 กลไกพหุภาคี (Multilateral mechanism)
- ตลาดคาร์บอนระดับโลก : มาตรานี้จัดตั้งตลาดคาร์บอนระดับโลกที่มีการสนับสนุนจาก UN ในการขายและการลดการปล่อยคาร์บอน
- กลไกการกำกับดูแลโดย UNFCCC : กลไกนี้กำกับดูแลโดยอนุสัญญากรอบสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และเรียกว่ากลไกการให้เครดิตข้อตกลงปารีส
- การลดการปล่อยก๊าซตามมาตรา 6.4 : คาร์บอนเครดิตที่ออกภายใต้กลไกนี้เรียกว่า A 6.4 Emission Reductions หรือ ITMOs ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาได้รับการอนุมัติจากประเทศเจ้าภาพหรือไม่
สรุปแล้ว มาตรา 6.2 เน้นที่การซื้อขายระหว่างประเทศโดยตรง ในขณะที่มาตรา 6.4 จัดตั้งตลาดระดับโลกที่มีการกำกับดูแลจาก UN ทั้งสองกลไกมุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการความร่วมมือระหว่างประเทศในการลดการปล่อยก๊าซ แต่ดำเนินการในลักษณะที่แตกต่างกัน
ความท้าทายและปัญหา
แม้ว่าจะมีความก้าวหน้า แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของกฎที่นำมาใช้ พวกเขากังวลว่ากฎสำหรับการซื้อขายทวิภาคีภายใต้มาตรา 6.2 อาจนำไปสู่การขายคาร์บอนเครดิตคุณภาพต่ำ ดังเช่น เคสอื้อฉาวในปีนี้ 2024 เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตที่ไม่มีค่าเชิงสิ่งแวดล้อม ของบริษัทชั้นนำด้านการชดเชยคาร์บอนในสหรัฐอเมริกา ที่ FBI การตั้งข้อหาฉ้อโกง 100 ล้านดอลลาร์ และความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับที่มาของเงินจากการชดเชย
คดีดังกล่าวทำให้มูลค่าตลาดโดยรวมลดลงกว่าครึ่ง และการคาดการณ์ว่าป่าฝนและระบบนิเวศที่มีคาร์บอนสูงอื่นๆ จึงกลายเป็นสินทรัพย์มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่ยังไม่เกิดขึ้น
นอกจากนั้น ความกังวลใหญ่เกี่ยวกับตลาดคาร์บอน ก่อนการประชุม COP28 ที่ดูไบเมื่อปีที่แล้ว พบว่าพื้นที่ป่าใหญ่ในแอฟริกาถูกขายในข้อตกลงการชดเชยคาร์บอนขนาดใหญ่ให้กับบริษัทเล็กๆ ที่ดูแลโดยสมาชิกในราชวงศ์ของดูไบ ก่อให้เกิดความกลัวว่าจะเกิด “การแย่งชิงแอฟริกาครั้งใหม่” เกี่ยวกับทรัพยากรคาร์บอนของทวีปนี้
อย่างไรก็ตาม ผลของกฎตลาดคาร์บอนจากการประชุม COP29 อาจเป็นความหวังใหม่ หากการลงนามของแต่ละประเทศจะช่วยสร้างระบบการซื้อขายคาร์บอนระหว่างประเทศ เพื่อให้ประเทศต่างๆ ปฏิบัติตามพันธสัญญาภายใต้ข้อตกลงปารีส ทำได้ตามมาตรฐานและเกิดผลลัพธ์แท้จริงต่อโลก
จากรายงานของเดอะการ์เดียน "อักเซล มิคาเอโลวา" ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดคาร์บอนจากมหาวิทยาลัยซูริก กล่าวว่า ตลาดคาร์บอนระหว่างประเทศล่มสลายสองครั้งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา สาเหตุมาจากความน่าเชื่อถือที่ลดลง ที่บากู การดำเนินการซื้อขายคาร์บอนระหว่างประเทศภายใต้กรอบปารีสสามารถป้องกันการล่มสลายครั้งที่สามที่อาจถึงแก่ชีวิตได้
“ตลาดคาร์บอนเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเร่งการแพร่กระจายเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำไปทั่วโลก ปัจจุบัน ตลาดคาร์บอนปารีสพร้อมที่จะเปิดตัวในปี 2025 ซึ่งสามารถเร่งการบรรเทาผลกระทบและช่วยลดช่องว่างการปล่อยก๊าซที่กั้นขวางเราจากการบรรลุเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสได้”
เปิดทางให้กับผู้ปล่อยก๊าซสูงสุด
การอนุมัติเรื่องมาตรา 6.2 และ 6.4 เกี่ยวกับตลาดคาร์บอนใน COP29 เป็นการเปิดทางให้กับผู้ปล่อยก๊าซสูงสุดอย่างประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่นในการซื้อการกำจัดและการลดราคาถูกจากโครงการลดการปล่อยก๊าซในประเทศกำลังพัฒนา เช่น โครงการพลังงานทดแทน การปกป้องป่าฝน หรือการปลูกต้นไม้ ซึ่งการซื้อขายอาจเริ่มต้นได้เร็วที่สุดในปี 2025 เมื่อองค์กรทางด้านเทคนิคได้ตกลงในรายละเอียดเชิงลึกเรียบร้อย
ขนาดและผลกระทบที่เป็นไปได้ของตลาดระดับประเทศยังไม่ชัดเจน นอร์เวย์ได้จัดสรรเงินถึง 740 ล้านดอลลาร์สำหรับการซื้อภายใต้ตลาดคาร์บอนปารีส โดยได้ลงนามข้อตกลงที่บากูกับเบนิน จอร์แดน เซเนกัล และแซมเบีย แต่ยังมีคำถามว่าอีกกี่ประเทศที่พัฒนาจะทำการซื้อ แม้จะมีการคาดการณ์ว่ามันอาจเติบโตเป็นตลาดมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
อัตราปล่อยคาร์บอน
ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก Green House Gases (GHGs) ที่มีความสำคัญมากที่สุด โดยสถิติเกี่ยวกับการปล่อย CO2 ช่วงปี 2023 (หน่วยล้านเมตริกตัน) จาก Statista มีดังนี้
- จีน 11.9 ล้านเมตริกตัน
- สหรัฐอเมริกา 4.9 ล้านเมตริกตัน
- อินเดีย 3 ล้านเมตริกตัน
- รัสเซีย 1.8 ล้านเมตริกตัน
- ญี่ปุ่น 0.98 ล้านเมตริกตัน
- อิหร่าน 0.8 ล้านเมตริกตัน
- ซาอุดีอาระเบีย 0.73 ล้านเมตริกตัน
- อินโดนีเซีย 0.73 ล้านเมตริกตัน
- เยอรมนี 0.59 ล้านเมตริกตัน
- เกาหลีใต้ 0.57 ล้านเมตริกตัน
อ้างอิง : UNFCCC, The Guardian, CZR, Business Standard, Statista