นวัตกรรมพลาสติกรีไซเคิล ARDAแก้ปัญหาขยะล้นเมือง

นวัตกรรมพลาสติกรีไซเคิล ARDAแก้ปัญหาขยะล้นเมือง

แนวโน้มทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) ปัญหาวิกฤติขยะพลาสติกล้นโลกเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญและมีแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

KEY

POINTS

  • ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลกที่มีขยะพลาสติกตกค้างในทะเล หากสามารถใช้พลาสติกรีไซเคิลสำหรับบรรจุภัณฑ์ด้านอาหารได้ ก็จะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกลงได้

  • เรซินพลาสติกชนิดหนึ่งที่นำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ทั้งสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม ประมาณ 834,500 ตันต่อปี (2561-2565) โดยนิยมนำมาผลิตเป็นขวด ถาด กล่องและฟิล์ม ฯลฯ 

  • หากผู้ประกอบการไทยต้องการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวและใช้บรรจุภัณฑ์ที่มี rPET เป็นส่วนผสม สำหรับในประเทศไทยก็มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับนโยบายของตลาดโลก

แนวโน้มทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) ปัญหาวิกฤติขยะพลาสติกล้นโลกเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญและมีแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) รัฐบาลได้กำหนดนโยบายด้าน Green Economy และสุขอนามัยของประชาชน เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนหันมาใส่ใจ และมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.(Agricultural Research Development Agency (ARDA) จึงได้พัฒนานวัตกรรมงานวิจัยแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองด้วยการนำพลาสติกมาใช้รีไซเคิล (rPET) เป็นบรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหารเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมรีไซเคิลพลาสติกของประเทศไทย ได้รับรางวัลผลงานวิจัยแห่งชาติที่มีผลกระทบสูง ประจำปี 2567 (Prime Minister’s TRIUP Award for Research Utilization with High Impact 2024) ระดับดีเด่น ในมหกรรม TRIUP Fair 2024

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

“คนตัวเล็ก”เติบโตอย่างยั่งยืน หนุนแคมเปณ เปลี่ยนพฤติกรรม

75% ของสิ่งทอจบลงด้วยการฝังกลบ และปล่อยคาร์บอนทั่วโลก

ปริมาณการผลิตเรซินพลาสติก  834,500 ตันต่อปี

“วิชาญ อิงศรีสว่าง” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate : PET) หรือเรซินพลาสติกชนิดหนึ่งที่นำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ทั้งสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม ประมาณ 834,500 ตันต่อปี (2561-2565) โดยนิยมนำมาผลิตเป็นขวด ถาด กล่องและฟิล์ม ฯลฯ เนื่องจากมีความใส แข็งแรง และต้านทานการซึมผ่านของแก๊สและความชื้นได้ดี และสามารถรีไซเคิลได้ 100% ถึงแม้ประเทศไทยจะมีศักยภาพในการนำพลาสติกมารีไซเคิลใช้ประโยชน์ใหม่ได้ ซึ่งแต่เดิมไม่มีกฎระเบียบและแนวทาง

การประเมินความปลอดภัยสำหรับวัสดุสัมผัสอาหารจากพลาสติกรีไซเคิล เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ.2548 “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหารเว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก” ส่งผลให้ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี

นวัตกรรมพลาสติกรีไซเคิล ARDAแก้ปัญหาขยะล้นเมือง

ไทยติด1ใน3โลกที่มีขยะพลาสติกตกค้างในทะเล

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ PET ได้ถูกนำกลับไปรีไซเคิลเป็นเส้นใยโพลิเอสเตอร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อนำไปผลิตเสื้อผ้าแทนแต่พลาสติกชนิดนี้ยังมีบางส่วนไม่เข้าสู่ระบบรีไซเคิลและกลายเป็นขยะพลาสติกตกค้างในทะเล ทำให้ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลกที่มีขยะพลาสติกตกค้างในทะเล

ดังนั้นหากสามารถใช้พลาสติกรีไซเคิลสำหรับบรรจุภัณฑ์ด้านอาหารได้ ก็จะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกลงได้และหากจะแก้ไขประกาศดังกล่าว จำเป็นต้องมีการใช้ข้อมูลด้านการวิจัยเป็นข้อมูลสนับสนุนประกอบการพิจารณา ARDA หน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยและผลักดันผลงานเข้าสู่การใช้ประโยชน์ ทั้งเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์

ภายใต้การร่วมสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อดำเนินโครงการการพัฒนาและประเมินวิธีทดสอบวัสดุ สัมผัสอาหารนำไปสู่เป้าหมาย “ปลดล็อก...การใช้พลาสติกรีไซเคิลสัมผัสอาหารใส่ใจความปลอดภัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน”

โดยศึกษาวิจัยการพัฒนาและประเมินวิธีทดสอบวัสดุสัมผัสอาหาร โดยเน้นพลาสติกที่ใช้ผลิตเป็นภาชนะบรรจุอาหาร ซึ่งมีโมเลกุลของสารเคมีในพลาสติกและอาจแพร่กระจายไปยังอาหารได้ เพื่อรองรับการประเมินความปลอดภัยสำหรับพลาสติกรีไซเคิล (rPET) ในประเทศไทย

5 กลุ่มเป้าหมายใช้พลาสติกรีไซเคิล (rPET)

"อำพร เสน่ห์"  ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวว่า ผลงานวิจัยดังกล่าวกลุ่มเป้าหมายที่นำไปใช้ประโยชน์ประกอบด้วย 5 กลุ่มสำคัญคือ1. กลุ่มผู้บริโภคในประเทศ 2. กลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยหลายภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทาน 3. องค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลความปลอดภัยและมาตรฐานของวัสดุและภาชนะบรรจุอาหาร 4. หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการ และ 5. ห้องปฏิบัติการทดสอบวัสดุสัมผัสอาหารจากภาครัฐและภาคเอกชน

ผลงานวิจัยชิ้นนี้ เป็นการศึกษาและพัฒนาวิธีการวิเคราะห์เพื่อประเมินประสิทธิภาพในการกำจัดสารปนเปื้อนในการผลิตพลาสติกรีไซเคิล (rPET) แทนการใช้พลาสติกใหม่ (Virgin PET) แบบเดิม รวมถึงพัฒนาแนวทางในการพิจารณาประเมินความปลอดภัยของพลาสติกรีไซเคิลให้กับประเทศไทย มีส่วนช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้หลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงมีการพัฒนาแนวทางการประเมินปริมาณการได้รับสัมผัสสารเคมีจากการใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่มีองค์ประกอบจากพลาสติกรีไซเคิล (rPET)

โดยเลือกการบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต เป็นกรณีศึกษาและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมด้านห้องปฏิบัติการทดสอบเพื่อรองรับการประเมินความปลอดภัยสำหรับพลาสติกรีไซเคิล rPETในประเทศไทย ทั้งหมดนี้นำไปสู่การประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 435 พ.ศ.2565 เรื่องกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 และมีผลบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว” นักวิจัยชี้ให้เห็นความสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้

งานวิจัยดังกล่าวช่วยสร้างมูลค่าให้กับขยะพลาสติกในประเทศด้วยมาตรฐานการรีไซเคิลระดับโลก ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก สอดคล้องกับแน้วโน้มการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ทั่วโลกต่างพยายามร่วมกันผลักดันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ และแน่นอนว่าผลงานวิจัยนี้ยังสามารถนำไปต่อยอดโครงการอื่นในอนาคต

รวมทั้งช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น

พลาสติกที่มีศักยภาพและคุ้มค่า

พลาสติกที่มีศักยภาพและคุ้มค่าในการจัดเก็บเพื่อนำกลับมารีไซเคิลสำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารในประเทศไทยเป็นอันดับแรก คือ พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลท (polyethylene terephthalate, PET) ซึ่งมีปริมาณการผลิต PET ในประเทศไทยค่อนข้างสูงประมาณ 834,500 ตันต่อปี (พ.ศ.2561-2565) โดยนิยมนำมาผลิตเป็นขวด ถาด กล่อง และฟิล์ม เนื่องจากมีความใส แข็งแรง และต้านทานการซึมผ่านของแก๊สและความชื้น

ปัจจุบันหลายภูมิภาคในโลก อาทิ ยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ได้มีการผลิต Recycled PET (rPET) สำหรับการผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกใหม่ สหภาพยุโรป ได้ออกกฎหมายฉบับ Directive 2019/904/EC สำหรับการใช้งานพลาสติกแบบครั้งเดียว และมีการกำหนดเป้าหมายให้มีสัดส่วนของพลาสติก รีไซเคิลในการผลิตขวดเครื่องดื่ม PET อย่างน้อยร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ.2568 โดยจะเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ.2573 และ ร้อยละ 65 ภายในปี พ.ศ.2583 

หากผู้ประกอบการไทยต้องการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้ก็จำเป็นต้องปรับตัวและใช้บรรจุภัณฑ์ที่มี rPET เป็นส่วนผสม สำหรับในประเทศไทยก็มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับนโยบายของตลาดโลก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างมุ่งเป้าให้ความสำคัญกับการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy)