UNGCNT ผนึกธุรกิจไทย ชูโมเดล Inclusive Business กำไรยั่งยืน สังคมเท่าเทียม

UNGCNT ผนึกธุรกิจไทย ชูโมเดล Inclusive Business กำไรยั่งยืน สังคมเท่าเทียม

งานประชุมมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมผู้นำธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนเพื่อหารือและแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและเปราะบาง

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand : UNGCNT) ร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทย (United Nations in Thailand) ผนึกพลังสมาชิกประชุมผู้นำความยั่งยืนประจำปี GCNT Forum 2024 ชู Inclusive Business โมเดลธุรกิจแห่งอนาคต สร้างกำไรอย่างยั่งยืน กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น และสร้างสังคมที่เท่าเทียม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

ภายในงาน “ศุภชัย เจียรวนนท์” นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ “Forward Faster to 2030 for Inclusive Business” เร่งบรรลุเป้าหมาย 2030 สร้างธุรกิจแห่งอนาคต สู่สังคมที่เท่าเทียม ต่อด้วย "มิเกลล่า ฟิลแบรย์-สตอเร่” ผู้ประสานสหประชาชาติประจำประเทศไทย หัวข้อ “Drive an Inclusive, Green Transition for Today and for Generations to Come” และ “พิชัย นริพทะพันธุ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในหัวข้อ “Inclusive Business – A Catalyst for Change to An Equitable Society” ธุรกิจแบบมีส่วนร่วม – เร่งสร้างสังคมไทยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นอกจากนั้น ฟอรั่มปีนี้ยังมีหัวข้อการเสวนาที่น่าสนใจ 3 หัวข้อ ดังนี้ หัวข้อที่ 1 Inclusive Business Landscape ผู้ร่วมเสวนา ปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานผู้ก่อตั้ง และประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน), ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และ มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

หัวข้อที่ 2 "ที่ส่งเสริมสังคมที่เท่าเทียม" ผู้ร่วมเสวนา ปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน), ริชาร์ด มาโลนีย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน), ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, กลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

และหัวข้อที่ 3 Environment Agri/Food System Transformation ผู้ร่วมเสวนา นฤมล ทักษอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด, ปราชญา ศิริมหาอาริยะโพธิ์ญา ผู้ก่อตั้งโครงการเมนทัลมี ตัวแทนเยาวชน, แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน)

UNGCNT ผนึกธุรกิจไทย ชูโมเดล Inclusive Business กำไรยั่งยืน สังคมเท่าเทียม

ยั่งยืนครอบคลุมทุกมิติ

“ศุภชัย” กล่าวว่า การประชุม GCNT FORUM จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 เพื่อแสดงพลังของสมาชิกสมาคมฯเกือบ 140 องค์กร โดยสัดส่วนของรายได้ทั้งหมดของสมาชิก คิดเป็นกว่าครึ่งหนี่งของระดับ GDP ประเทศ

"เราเชื่อมั่นว่า เมื่อสมาชิกของเรานําคํามั่น SDGs ไปลงมือทําในตลอดห่วงโซ่อุปทานและขอบเขตธุรกิจ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงและยั่งยืน ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากรายงานประจําปี ที่สมาชิกได้ทยอยจัดส่งต่อ UNGCNT ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2567 พบว่า 98% ได้รายงานแล้ว และครอบคลุมด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต รวมถึงจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะ รับผิดชอบการดําเนินงานด้านความยั่งยืน มีมาตรการป้องกันความเสี่ยง และรายงานผลการตรวจสอบรอบด้าน (Due Diligence)"

ในเชิงสิ่งแวดล้อม กว่า 80% ของสมาชิกที่รายงาน ได้วัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1 และ Scope 2 คิดรวมเป็นประมาณ 30 ล้านตัน รายงานเปิดเผยด้วยว่า สมาชิกไดเ้ริ่มนําพลังงานสะอาดมาใช้ คิดเป็น 20% ของพลังงานทั้งหมด

ขณะเดียวกัน 60% ของสมาชิกลงทุนในโครงการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่น่าสนใจคือ สมาชิกเริ่มสร้างรายได้มากขึ้น จากสินค้าและบริการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ เช่น ข้าว หรือไข่ไก่ โดยรายได้จากสินค้าเหล่านี้ คิดเป็น 40% ในบางราย ในการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร

และเกือบ 80% ของสมาชิก ได้จัดอบรมพนักงานในเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยี ความเท่าเทียมทางเพศ การไม่เลือกปฏิบัติ รวมถึงการต่อต้านการทุจริต

“ศุภชัย” กล่าวด้วยว่า ไทยมีความคืบหน้าในการบรรลุ SDGs ระดับดีเยี่ยม จัดเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน 6 ปีติดต่อกัน และอันดับที่ 45 ของ 166 ประเทศท่ัวโลก หรือคิดเป็นคะแนน 74.7 ขณะที่คะแนนเฉลี่ยของภูมิภาค อยู่ ที่ 67.2

ทั้งนี้ รายงานสำนักงานใหญ่ของ UN แสดงความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าของโครงการ โดย 48% มีความล่าช้าและ 37% ไม่มีหรือถดถอย รวมถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งส่งผลต่อการลงทุนและการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงความล่าช้าในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อเศรษฐกิจโลก

โดยอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น 1 องศา ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจโลก 12% ต้องมีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ เช่น มาตรการของสหรัฐฯ ในปี 2026 ส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกไทย เช่น เหล็ก และอลูมิเนียม

"มูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในปี 2548 สูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 17% ของ GDP และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง นอกจากนี้ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์คาดว่าจะเติบโตมากกว่า 30% ในอีก 4 ปีข้างหน้า การลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์จะมีมูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากดาต้าเซ็นเตอร์ใช้พลังงานจำนวนมาก"

3 ประเด็นที่สำคัญ

"มิเกลล่า” กล่าวว่า ผลของการประชุม COP29 ที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เกิดความทะเยอทะยานด้านการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งเป็นเป้าหมายการระดมทุนรวมทั่วโลกที่ใหญ่ที่สุด และมุ่งหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากทุกแหล่ง ทั้งแหล่งสาธารณะและเอกชน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย

ในประเทศไทย รัฐบาลให้กรอบการกำกับดูแลและการกระตุ้นที่จำเป็นสำหรับการลงทุน อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนคือผู้ที่ขับเคลื่อนการลงทุนเหล่านี้ โดยในปีที่ผ่านมา อย่างน้อย 75% ของการลงทุนในไทยมาจากแหล่งเอกชน และคิดเป็น 90% ของ GDP นอกจากนี้ ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) คิดเป็นประมาณ 99.6% ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของในการเปลี่ยนผ่านสีเขียว ซึ่งต้องทำให้แน่ใจว่าไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

“GCNT ได้ใช้ความเป็นผู้นำของภาคเอกชนอย่างมีกลยุทธ์เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ประชุมในวันนี้ ความมุ่งมั่นคำมั่นสัญญามูลค่า 46,000 ล้านดอลลาร์ในการเร่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการลงทุนในทุนมนุษย์สำหรับผู้คน 1 ล้านคน ได้รับการตอกย้ำไม่เพียงแค่ในองค์กร แต่ยังขยายไปยังห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด รวมถึง SMEs ด้วย”

3 ประเด็นที่สำคัญและเชื่อมโยงกันเพื่อขับเคลื่อนความพยายาม คือ

  • ประเด็นแรก ต้องให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงจะเป็นธรรมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การเปลี่ยนแปลงไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การปฏิบัติที่ยั่งยืนเท่านั้น ยังเกี่ยวข้องกับการสร้างโอกาสสำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้หญิง ผู้พิการ ผู้อพยพ และกลุ่มเปราะบาง นอกจากนั้นต้องตอบสนองต่อการสร้างคนที่ทักษะสีเขียว ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและขาดแคลน
  • ประเด็นที่สอง การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความเสมอภาค ทุกธุรกิจสามารถเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนรู้และนวัตกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลก โดยเฉพาะความรู้ดิจิทัล
  • ประเด็นที่สาม การปลดล็อกการเงินที่ยั่งยืน เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในระหว่างการประชุม COP29 ว่าการเงินสำหรับสภาพภูมิอากาศไม่ใช่การกุศล มันเป็นการลงทุน การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ทางเลือก มันเป็นความจำเป็น

“ประเทศไทยได้แสดงความเป็นผู้นำในการระดมทุน 19,000 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงการ ESG และวางแผนที่จะออกพันธบัตรความยั่งยืนมูลค่า 3,800 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2025 ความพยายามระดับโลกนี้ทำให้เรากำลังเดินหน้าไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่กำหนดโดยสหประชาชาติ”

ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“พิชัย” กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตอย่างรวดเร็วของแบรนด์เนม การพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เช่น การผลิตดาวเทียมที่มีราคาถูกลง และการแก้ไขปัญหาและความร่วมมือที่เพิ่มขึ้น

"ไทยมีความจำเป็นในการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ และชี้ให้เห็นถึงโอกาสและความก้าวหน้าที่จะเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อได้เปรียบคือไทยมีเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่ก้าวหน้า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือดีเยี่ยม เทียบเท่าหรือเหนือกว่าประเทศอื่น ๆ

แต่ต้องลงทุนในไอเดียใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลงโปรเจกต์ เพราะ การเติบโตของ AI และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีผลต่อธุรกิจ รวมถึงโอกาสทางธุรกิจและการขยายตัวของตลาด"

ยกตัวอย่างนโยบายสําคัญของกระทรวงพาณิชย์ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและส่งเสริมการมีส่วนร่วม เช่น นโยบาย “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” เพื่อดูแลค่าครองชีพ ลดภาระ ค่าใช้จ่ายของประชาชน ทําให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าและบริการในราคาที่จับต้องได้ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ดึงภาคเอกชนรายใหญ่กว่า 130 ราย มาช่วยลดรายจ่าย ให้กับผู้ประกอบการรายเล็กและประชาชน ผ่านการลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

จัดโปรโมชั่นสินค้าราคาพิเศษผ่านร้านค้าธงฟ้า ร้านค้าชุมชน และห้างท้องถิ่นกว่า 140,000 ร้านค้า และจัดมหกรรมลดราคาสินค้าในห้างค้าปลีก-ค้าส่ง ทั่วประเทศ โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถกระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนได้มากกว่า 110,000 ล้านบาท ทําให้สามารถดึงประชาชนกลุ่มฐานรากเข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่ธุรกิจในฐานะ ผู้บริโภคได้มากขึ้น