'ซีเมนส์' เผย 5 เมกะเทรนด์กำหนดอนาคตไทย พลังเทคโนโลยีตัวช่วยสู่ความยั่งยืน
กรุงเทพธุรกิจ จัดฟอรั่มความยั่งยืนต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2567 ณ พารากอน ฮอลล์ เป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของทุกหน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจนำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนครอบคลุม 3 มิติ ได้แก่ 1) เศรษฐกิจ 2) สังคม 3) สิ่งแวดล้อม
นายรอส คอนลอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวในงาน "Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business" ของกรุงเทพธุรกิจ ในหัวข้อ Climate Tech Accelerate โดยเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง 5 เมกะเทรนด์ กำลังกำหนดอนาคต
เมกะเทรนด์แรก คือ ‘การเปลี่ยนแปลงทางประชากร’ ประเทศไทยมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดเป็นอันดับสองในอาเซียน โดยอยู่ระหว่าง 1.2 ถึง 1.32 ส่วนอันดับ 1 คือ ประเทศสิงคโปร์ ที่มีอัตราการเกิดต่ำกว่า ซึ่งหมายความว่าเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบการดูแลสุขภาพ และความพร้อมของผู้ที่อยู่ในวัยทำงานที่จะเข้าร่วมตลาดแรงงาน
เมกะเทรนด์ที่สอง คือ ‘การขยายตัวของเมือง’ ในปี 2023 ไทยได้เพิ่มสายรถไฟฟ้าอีกสองสายในกรุงเทพฯ ทำให้มีทั้งหมด 10 สาย และยังมีแผนที่จะเพิ่มอีก 2 สายที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ ยังมีแผนรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
โดยรถไฟความเร็วสูงนี้จะเชื่อมต่อจากคุนหมิงในประเทศจีนไปถึงภาคใต้สุดของประเทศไทย แผนการเหล่านี้หมายความว่าเรากำลังครอบคลุมทั้งประเทศด้วยการขนส่งที่ยั่งยืน ซึ่งการที่ไทยมีอัตราการรับรถยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุดในอาเซียน เท่ากับว่ากำลังเพิ่มการขนส่งที่สะอาดมากขึ้น
เมกะเทรนด์ที่สาม คือ ‘โลกาภิวัตน์’ ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากความขัดแย้ง และความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เราเผชิญ ไทยมีอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ศูนย์ข้อมูล (Data Center) และเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น เพราะบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต้องการมีสถานที่หลายแห่งในห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดความเสี่ยงในการหยุดชะงัก
เมกะเทรนด์ที่สี่ คือ ‘การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม’ ปัญหามลภาวะอากาศเช่น PM 2.5 สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และน้ำท่วมฉับพลันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนในประเทศไทย และดิจิทัลเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นทำให้ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก
เมกะเทรนด์ที่ห้า คือ ‘ดิจิทัลเทคโนโลยี’ ที่ Siemens เราได้รวมโลกแห่งความจริง และโลกดิจิทัลเข้าด้วยกันด้วยการใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาจริงได้เร็วขึ้น ยั่งยืนมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดิจิทัลเทคโนโลยีของ Siemens
“รอส” ยกตัวอย่าง Digital Twin ซึ่งเป็นการจำลองเสมือนจริงที่แทบจะแยกไม่ออกจากความจริง เช่น ก่อนที่จะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เราสามารถสร้างเวอร์ชันดิจิทัลของโรงงานนั้นเพื่อจำลองกระบวนการผลิต ปรับปรุงการใช้พลังงาน ส่งเสริมการหมุนเวียน และใช้การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์เพื่อลดเวลาในการหยุดทำงาน
นอกจากนั้น Digital Grid เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ Siemens ช่วยให้ลูกค้าสร้างผลกระทบที่ยั่งยืนเชิงบวก โซลูชันของเราเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในอาคารพาณิชย์ และโรงงานช่วยให้บริษัทลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการทำงานของลูกค้า
ส่วนซอฟต์แวร์อัจฉริยะ เช่น ซอฟต์แวร์กริด ช่วยในการผสานพลังงานหมุนเวียน การเก็บพลังงาน และวิธีการหมุนเวียนอื่นๆ เข้ากับกริดพลังงาน และช่วยให้พลังงานยังคงมีเสถียรภาพ ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงสุดของเราถูกออกแบบมาให้ทนทาน อัปเกรดได้ง่าย และถูกออกแบบเพื่อการรีฟีร์บิชเมนต์ และการหมุนเวียนตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ
นอกจากนี้ Siemens ยังมีบริการทางการเงิน (SFS) โดยการลงทุนในโครงการสีเขียวที่ตรงตามเกณฑ์ความยั่งยืน ในเดือนเมษายน 2024 เราได้เปิดตัวฉลาก Siemens EcoTech ซึ่งเป็นการรับประกันความโปร่งใสด้านความยั่งยืนชั้นนำของอุตสาหกรรม รวมถึงการแสดงผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีการระบุการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับ Scope 1 และ Scope 2
“เราเชื่อว่าด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ เราจะกำหนดมาตรฐานสำหรับประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม และช่วยให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนได้อย่างมีข้อมูลครบถ้วน”
ร่วมกับลูกค้าขับเคลื่อนความยั่งยืน
“รอส” กล่าวว่า ซีเมนส์มุ่งมั่นต่อความยั่งยืน และการทำงานร่วมกับลูกค้าเพื่อช่วยให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม โดยยกตัวอย่าง 3 ประการของการทำงานร่วมกับลูกค้า ดังนี้
ไฮเนเก้น : เรากำลังทำงานร่วมกับไฮเนเก้นเพื่อช่วยให้พวกเขาบรรลุการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1 และ Scope 2 ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2030 เราใช้ดิจิทัลทวิน และการปรับปรุงการใช้ความร้อน และการระบายความร้อน ซึ่งเป็นการใช้พลังงานหลักในการผลิตอาหาร และเครื่องดื่ม
ศูนย์ข้อมูลในอินโดนีเซีย : ถึงแม้จะไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้เนื่องจาก NDA เรากำลังสนับสนุนศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ในอินโดนีเซียโดยช่วยลดการใช้พลังงานในระดับแรงดันต่ำ และแรงดันกลาง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โรงงานน้ำตาล : เรากำลังสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของโรงงานน้ำตาลของ บริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยการอัตโนมัติทั้งหมดในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และความโปร่งใส
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“รอส” บอกว่า ซีเมนส์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา และมีแผนที่จะลดอีก 5% ในปี 2025 เป้าหมายคือ การบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2030 โดยใช้การชดเชยคาร์บอนให้น้อยที่สุด
"เราปรับพอร์ตโฟลิโอของเราให้ไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ประหยัดพลังงาน และไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเราท้าทายตัวเองเสมอที่จะทำมากขึ้น ขณะที่การลด 50% แรกสำเร็จแล้ว ขั้นตอนถัดไปจะเป็นความท้าทายที่สุด โดยใช้เป้าหมายที่อิงวิทยาศาสตร์ (SBTi) เรามุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 ภายในปี 2030 ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกับห่วงโซ่อุปทานของเรา"
ความพยายามของซีเมนส์
“รอส” กล่าวว่า ซีเมนส์พยายามที่จะช่วยลูกค้าลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ลดลงถึง 190 ล้านตัน เมื่อเปรียบเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเราเองที่ 600,000 ตันใน Scope 1 และ Scope 2 และ 11 ล้านตันใน Scope 3 สิ่งนี้หมายถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 16 เท่าต่อชั้นบรรยากาศ
“ซีเมนส์เป็นเพียงบริษัทเดียว แต่ลองจินตนาการว่าถ้าทุกบริษัท อุตสาหกรรม และประเทศร่วมมือกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงเทคโนโลยีนี้สามารถสร้างความแตกต่างได้มากเพียงใดในโลก และความจริงคือ เทคโนโลยีนี้สามารถเร่งการเดินทางสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง และมีอยู่ในวันนี้เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์