‘เทือกเขาแอลป์’ หิมะลดลง 34% ในรอบ 100 ปี เตือนระวังน้ำท่วม ธุรกิจสกีอาจไม่รอด

‘เทือกเขาแอลป์’ หิมะลดลง 34% ในรอบ 100 ปี เตือนระวังน้ำท่วม ธุรกิจสกีอาจไม่รอด

การศึกษาใหม่เผยให้เห็นว่าปริมาณหิมะที่ตกทั่ว “เทือกเขาแอลป์” ลดลงหนึ่งในสามในรอบ 100 ปี เป็นผลมาจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

KEY

POINTS

  • ผ่านไป 100 ปีหิมะบน “เทือกเขาแอลป์” ตกน้อยลดลงโดยเฉลี่ยถึง 34%
  • ปริมาณหิมะลดลงอย่างเห็นได้ชัดหลังจากปี 1980 ซึ่งตรงกับช่วงที่ภาวะโลกร้อนเริ่มส่งผลกระทบ
  • คาดว่าจะเทือกเขาแอลป์จะมีจำนวนวันที่มีหิมะน้อยลง 42% ภายในปี 2100

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” และ “ภาวะโลกร้อน” ส่งผลให้ “หิมะ” ตกลงน้อยลง แต่คงไม่มีใครคิดว่าผ่านไปแค่ 100 ปีหิมะบน “เทือกเขาแอลป์” ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “หลังคาของยุโรป” จะลดลงโดยเฉลี่ยถึง 34% โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณทางลาดด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเทือกเขา

การศึกษาที่นำโดยนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัย Eurac ในอิตาลี ทำการศึกษาข้อมูลสภาพอากาศของเทือกเขาแอลป์ระหว่างปี 1920-2020 จาก 46 สถานที่ทั่วเทือกเขาแอลป์ ตั้งแต่ฝรั่งเศสไปจนถึงสโลวีเนีย โดยร่วมมือกับสำนักงานอุตุนิยมวิทยาหลายแห่ง หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มอาสาสมัคร และมหาวิทยาลัยเทรนโต

จากการศึกษาพบว่า ปริมาณหิมะลดลงอย่างเห็นได้ชัดหลังจากปี 1980 ซึ่งตรงกับช่วงที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของเทือกเขาที่สูงที่สุดของยุโรปอย่างมาก

แต่บริเวณของเทือกเขาแอลป์มีปริมาณหิมะหายไปไม่เท่ากัน โดยบริเวณทางตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์มีหิมะน้อยลง 23% ส่วนบริเวณเนินเขาทางตะวันตกเฉียงใต้หิมะตกลดลงเกือบ 50% โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าระดับความสูง 2,000 เมตร และอยู่ในพื้นที่ทางตอนใต้ เช่น อิตาลี สโลวีเนีย รวมถึงเทือกเขาแอลป์ในออสเตรีย

ตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยที่สถานีตรวจอากาศบันทึกได้ เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีค่าสูงขึ้นเกือบ 1 องศาเซลเซียสเหนือค่าเฉลี่ย 100 ปี นอกจากนี้อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้หิมะไม่สามารถก่อตัวได้ในระดับความสูงที่ต่ำกว่า แต่จะเปลี่ยนเป็นฝนแทน นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ปริมาณหิมะตกต่อปีลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเขตอบอุ่นและระดับความสูงที่ต่ำกว่า

โดยเฉลี่ยภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงใต้มีหิมะตกลดลง 4.9% และ 3.8% ตามลำดับ ในแต่ละทศวรรษ ส่วนในพื้นที่สูงที่อุณหภูมิเย็นเพียงพอ ยังคงมีหิมะที่ตกลงมาค่อนข้างคงที่ แต่ข้อมูลจากการศึกษานี้พบว่ามีฝนตกหนักทับหิมะแม้ในพื้นที่สูง

หิมะมีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ โดยจะหล่อเลี้ยงธารน้ำแข็ง ลำธารบนภูเขา และเมื่อหิมะละลายลงอย่างช้า ๆ ในฤดูใบไม้ผลิก็จะช่วยให้แหล่งน้ำมีน้ำสำรอง ดังนั้นการลดลงของหิมะส่งผลกระทบในทุกกิจกรรมที่ต้องใช้น้ำ ไม่เพียงแต่การเล่นสกีและการท่องเที่ยว ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในพื้นที่เท่านั้น

ในแต่ละปี มีผู้คนประมาณ 400 ล้านคนไปเยี่ยมชมสกีรีสอร์ตทั่วโลก หิมะจึงถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยว หากหิมะละลายในช่วงฤดูสกี ในระหว่างเดือนธันวาคม-เมษายน รีสอร์ตก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องปิดทำการก่อนหมดฤดูกาล ทำให้มีรายได้ลดลง ปัจจุบันทั่วโลกเริ่มมีความกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ไม่สามารถเปิดลานสกีได้

การศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้สกีรีสอร์ตหลายแห่งทั่วโลกมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่มีหิมะภายในสิ้นศตวรรษนี้ โดยรีสอร์ต 1 ใน 8 แห่งทั่วโลกจะไม่มีหิมะตั้งแต่ปี 2071-2100 

แม้แต่เทือกเขาแอลป์ในยุโรป ซึ่งเป็นที่ตั้งของลานสกี 69% ของโลก ก็คาดว่าจะมีวันที่มีหิมะลดลง 42% ภายในปี 2100 ซึ่งในตอนนี้บริเวณเทือกเขาแอลป์ของออสเตรียได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด มีหิมะปกคลุมเพียง 38 วันต่อปี

ภาวะโลกร้อนทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น จนรีสอร์ตหลายแห่งต้องเก็บหิมะไว้ในแหล่งสำรองขนาดใหญ่ เพื่อใช้ในลานสกีฤดูกาลถัดไป ทั้งนี้ผู้เขียนบทความล่าสุดนี้เตือนว่า หิมะที่ตกน้อยลงในเทือกเขาแอลป์จะทำให้เล่นสกีได้น้อยลง 2-3 วัน

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อฝนตกลงมาแทนที่จะเป็นหิมะ น้ำฝนจะไหลลงสู่หุบเขาที่ลาดชันอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะมากขึ้นและกลายเป็นน้ำท่วมใหญ่ 

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโคโลราโด พบว่าน้ำท่วมที่เกิดจากฝนตกหนักนั้นมีปริมาณน้ำมากกว่าน้ำท่วมที่เกิดจากการละลายหิมะถึงสองเท่า 


ที่มา: Daily MailEuro NewsPhys