รับสมัครงานใน ‘แอนตาร์กติกา’ รายได้ขั้นต่ำปีละ 1.2 ล้าน มีเพนกวินเป็นเพื่อน

รับสมัครงานใน ‘แอนตาร์กติกา’ รายได้ขั้นต่ำปีละ 1.2 ล้าน มีเพนกวินเป็นเพื่อน

คณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาของสหราชอาณาจักรรับสมัครงานหลายตำแหน่ง เพื่อไปทำงานในสถานีวิจัยที่แอนตาร์กติกา รายได้ขั้นต่ำปีละ 1.2 ล้าน

คุณกำลังมองหางานที่ได้เงินดี และหลีกหนีจากความวุ่นวายในเมืองใหญ่ แถมมีเพนกวินฝูงใหญ่เป็นเพื่อนร่วมงานอยู่หรือไม่ ถ้าหากใช่ โอกาสของคุณมาถึงแล้ว! ขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครพนักงานในตำแหน่งต่างๆ ในสถานีวิจัยแอนตาร์กติกา

คณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาของสหราชอาณาจักร (British Antarctic Survey) หรือ BAS กำลังรับสมัครงานหลายตำแหน่ง โดยจะมีระยะสัญญาอยู่ระหว่าง 6-18 เดือน และมีความยืดหยุ่น มีค่าตอบแทนเริ่มต้นที่ 29,273 ปอนด์ต่อปี ซึ่งคิดเป็นเงินไทยราว 1,227,773 บาท แถม BAS จะดูแลค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ตั้งแต่ที่พัก อาหาร การเดินทาง เสื้อผ้าเฉพาะทาง และการฝึกอบรม 

ตำแหน่งงานที่เปิดรับมีด้วยกันหลากหลายสาขาวิชา โดยตอนนี้ได้เปิดรับตำแหน่งงานเจ้าหน้าที่ดำน้ำ นักอุตุนิยมวิทยา และนักวิทยาศาสตร์ด้านมหาสมุทร ได้เปิดให้สมัครได้แล้วบนเว็บไซต์ของ BAS แล้ว ซึ่งผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกจะเริ่มรับสมัครได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน

ส่วนตำแหน่งเชฟ หัวหน้าสถานี และผู้ช่วยภาคสนามด้านสัตววิทยาในสถานีวิจัยของ BAS ซึ่งรวมถึงสถานีโรเทรา และสถานีฮัลเลย์จะประกาศรับสมัครในอีก 3 เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องเข้าร่วมการฝึกอบรมในสหราชอาณาจักร ดังนั้นผู้สมัครจะต้องมีสิทธิทำงานในสหราชอาณาจักร (แม้ว่าที่ทำงานจริงจะอยู่ในแอนตาร์กติกาก็ตาม)

BAS ระบุว่า การทำงานที่แอนตาร์กติกาถือเป็น “โอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะทำงานในพื้นที่ป่าธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก และเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ” สถานีวิจัยมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และสภาพแวดล้อมการทำงานที่กระตุ้นความคิด พร้อมอุปกรณ์การวิจัยที่ทันสมัย 

แอนตาร์กติกาไม่มีประชากรพื้นเมืองหรือผู้อยู่อาศัยถาวร แต่เป็นที่ตั้งของชุมชนชั่วคราวของนักวิทยาศาสตร์ ช่างเทคนิค และเจ้าหน้าที่สนับสนุนที่อาศัยอยู่ที่นั่นแบบผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป โดยในช่วงฤดูร้อนจะมีคนอยู่มากที่สุดประมาณ 5,000 คน และจะลดลงเหลือประมาณ 1,000 คนในช่วงฤดูหนาว

แน่นอนว่าการอาศัยอยู่ที่นี่ไม่เหมาะกับทุกคน แต่บางคนที่เคยทำงานในแอนตาร์กติกาก็พบว่าตัวเองต้องกลับมาที่นี่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่น เบน นอร์ริส หัวหน้าฝ่ายยานพาหนะ ทำงานให้กับ BAS ในแอนตาร์กติกามาเป็นเวลา 16 ฤดูกาลแล้ว แต่การได้ทำงานที่นี่ยังคงเจอกับเรื่องที่น่าทึ่งอยู่เรื่อยๆ ไม่แพ้ตอนที่มาทำงานตอนแรก 

ส่วนโอลิเวียร์ ฮิวเบิร์ต ผู้จัดการฝ่ายจัดเลี้ยงของ BAS ซึ่งเคยเป็นเชฟร้านอาหารมิชลินสตาร์ กล่าวเสริมว่า การเป็นเชฟในแอนตาร์กติกาเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ทางด้านเอลอยส์ ซาวิลล์ ช่างไม้ที่สถานีวิจัยฮัลเลย์ที่ 4 ที่เพิ่งเริ่มมาทำงานไม่นานระบุว่า งานนี้ไม่เหมือนงานที่เคยทำมาก่อน หน้าที่ของเธอในแต่ละวันจะต้องขูดน้ำแข็งออกจากไม้ ขับรถลากสกี และสร้างสิ่งของต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม การใช้ชีวิตในแอนตาร์กติกาไม่ได้ง่ายดาย เนื่องจากทวีปนี้เป็นดินแดนที่แปลกแยก โดดเดี่ยว และหนาวเหน็บมาก และในช่วงฤดูหนาว ดินแดนแห่งนี้จะมืดมิดอย่างที่สุด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อจิตใจได้

การศึกษาวิจัยในปี 2018 แสดงให้เห็นว่าผู้คนที่ทำงานในแอนตาร์กติกาในช่วงฤดูหนาวจะเข้าสู่ภาวะ “จำศีลทางจิตใจ” ทำให้คุณภาพการนอนหลับลดลง และอารมณ์ที่หดหู่ โชคดีที่คนส่วนใหญ่จะฟื้นตัวเมื่อดวงอาทิตย์กลับมา อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานใดๆ บ่งชี้ถึงอันตรายต่อจิตใจในระยะยาว

 

 

ที่มา: BBCIFL ScienceIndependent

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์