‘มนุษย์’ ต้นตอแห่งการสูญเสีย ผู้ทำลาย ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’

จากการสังเคราะห์งานวิจัยมากกว่า 2,000 ชิ้น พบว่ามนุษย์เป็นสาเหตุของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในทุกสายพันธุ์ทั่วโลก
KEY
POINTS
- กิจกรรมของมนุษย์ส่
“มนุษย์” กำลังสร้างผลกระทบอย่างหนักต่อ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ทั่วโลก ไม่เพียงแค่จำนวนสายพันธุ์ที่ลดลง แต่องค์ประกอบของชุมชนสายพันธุ์ก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปด้วย
นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางน้ำแห่งสหพันธรัฐสวิส (Eawag) และมหาวิทยาลัยซูริก ทำการศึกษาซึ่งครอบคลุมเกือบ 100,000 แห่งทั่วทุกทวีป พบว่ากิจกรรมของมนุษย์ส่งผลให้เกิด “ผลกระทบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนต่อความหลากหลายทางชีวภาพ”
ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการพยายามรวมผลการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพทั้งหมดที่มีอยู่บนโลกเข้าด้วยกัน เพราะการศึกษาส่วนใหญ่จำกัดอยู่เพียงแค่สถานที่เดียวหรือได้รับผลกระทบจากมนุษย์เท่านั้น
ฟลอเรียน อัลเทอร์แมตต์ ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาทางน้ำที่มหาวิทยาลัยซูริกและหัวหน้าการศึกษา กล่าวว่า “นี่เป็นหนึ่งในการสังเคราะห์ผลกระทบของมนุษย์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาทั่วโลก”
ทีมวิจัยได้ศึกษาแหล่งที่อยู่อาศัยบนบก น้ำจืด และทะเล รวมถึงสิ่งมีชีวิตทุกกลุ่ม รวมทั้งจุลินทรีย์ เชื้อรา พืช สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ปลา นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จนได้ข้อสรุปว่า แรงกดดันจากมนุษย์ทำให้องค์ประกอบของชุมชนสิ่งมีชีวิตเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน อีกทั้งความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นก็ลดลง
โดยเฉลี่ยแล้ว จำนวนสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมนุษย์มากกว่าในพื้นที่ที่ไม่มีมนุษย์อยู่อาศัยถึงเกือบ 20% ตามรายงานระบุว่า สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีประชากรลดลงมากเป็นพิเศษ ทำให้เกิดโอกาสในการสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ที่มีจำนวนมากกว่า
รายงานรวมถึงปัจจัยที่ทำให้สิ่งมีชีวิตลดลงซึ่งเกิดจากกิจกรรมที่มนุษย์ทำด้วยกัน 5 ประการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของถิ่นที่อยู่อาศัย การใช้ประโยชน์ทรัพยากรโดยตรง เช่น การล่าสัตว์หรือการตกปลา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สัตว์พันธุ์ต่างถิ่นรุกราน และมลพิษ
ฟรานซัวส์ เคค ผู้เขียนหลักของงานวิจัยกล่าวว่า ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าปัจจัยทั้ง 5 ประการล้วนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก ในกลุ่มสิ่งมีชีวิตทุกกลุ่ม และในระบบนิเวศทุกระบบ
การศึกษาพบว่า การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยและมลพิษทางสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบเชิงลบต่อจำนวนและองค์ประกอบของสายพันธุ์เป็นอย่างมาก เพราะเมื่อมนุษย์ทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำไร่นา จะต้องมีการทำลายทุ่งหญ้าหรือตัดไม้ทำลายป่า มลพิษไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ เช่น การรั่วไหลของน้ำมัน หรือโดยตั้งใจ เช่น การพ่นยาฆ่าแมลง และปุ๋ยในปริมาณมาก ล้วนทำให้มีสารเคมีอันตรายจะทำให้สิ่งมีชีวิตอ่อนแอลงหรือทำลายสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น ส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดน้อยลง อีกทั้งยังทำให้องค์ประกอบของสายพันธุ์เปลี่ยนไปด้วย
อีกทั้งการเกษตรแบบเข้มข้นขนาดใหญ่ทำให้ภูมิประเทศมีลักษณะเหมือนกันมากขึ้น และชุมชนสายพันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่นั้นก็มีความคล้ายคลึงกันมากขึ้น
นอกเหนือจากจำนวนประชากรแล้ว องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตก็เป็นอีกประเด็นสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ เคคกล่าวว่าแรงกดดันจากมนุษย์ทำให้จำนวนสิ่งมีชีวิตลดลง แรงกดดันจากมนุษย์ยังทำให้องค์ประกอบของชุมชนสายพันธุ์เปลี่ยนไปด้วย ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ภูเขา พืชท้องถิ่นที่มีเฉพาะพื้นที่สูงกำลังถูกพืชทั่วไปที่เติบโตได้ดีกว่าเข้ามาแทนที่เมื่อสภาพอากาศอบอุ่นขึ้น
กระบวนการนี้เรียกว่า “ลิฟต์สู่การสูญพันธุ์” (Elevator to Extinction) เนื่องจากพืชที่อาศัยอยู่บนที่สูงไม่มีที่อื่นให้ขยายพันธุ์ได้อีก ซึ่งอาจหมายความว่าแม้ว่าจำนวนสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอาจยังคงเท่าเดิม แต่ความหลากหลายทางชีวภาพและหน้าที่ของระบบนิเวศจะได้รับผลกระทบ ส่งผลเสียต่อบริการระบบนิเวศที่สำคัญ เช่น การผสมเกสร ความสมบูรณ์ของดิน การทำให้น้ำบริสุทธิ์ หรือปกป้องดินจากการพังทลาย
“การสูญเสียและการเปลี่ยนแปลงของความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่สังคมของเรากำลังเผชิญอยู่” นักวิจัยกล่าว
พร้อมระบุว่างานวิจัยนี้ควรใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการพัฒนาและการประเมินกลยุทธ์การอนุรักษ์ เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในอนาคต ตัวอย่างเช่น การเน้นที่การอนุรักษ์หรือฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยเฉพาะ การควบคุมมลพิษ หรือการจัดการอย่างระมัดระวังกับสายพันธุ์ต่างถิ่นอาจนำมาซึ่งผลประโยชน์ที่จับต้องได้รวดเร็วกว่าที่เคยตระหนักมาก่อน
ลินน์ ดิกส์ ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อธิบายว่างานวิจัยนี้มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ แต่ผลการค้นพบนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจไม่มากนัก เพราะมนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก ส่งผลให้เกิดชุมชนพืช สัตว์ และจุลินทรีย์รูปแบบใหม่และแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายจากฝีมือมนุษย์
“เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ จะสามารถอยู่ร่วมกับเราได้ หรือมีจำนวนมากพอ และมีความหลากหลายทางพันธุกรรมเพียงพอที่จะวิวัฒนาการต่อไปได้ โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตที่ทำหน้าที่สำคัญในระบบนิเวศ เช่น การผสมเกสร การย่อยสลาย และการแพร่กระจายเมล็ดพืช” ดิกส์กล่าว
ท้ายที่สุด การศึกษาเน้นย้ำว่ามนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงหน้าตาของระบบนิเวศทั่วโลก ไม่ใช่แค่การสูญเสียสายพันธุ์โดยตรง แต่ยังรวมถึงการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของสายพันธุ์ที่ยังคงอยู่ด้วย
ผู้เขียนเตือนว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สามารถส่งผลสะเทือนไปทั่วระบบนิเวศ ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่เครือข่ายแมลงผสมเกสรไปจนถึงการประมง ดังที่นักวิทยาศาสตร์เน้นย้ำ ขั้นตอนต่อไปคือการใช้ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ เพื่อแจ้งการดำเนินการที่มีความหมายในนามของสายพันธุ์นับไม่ถ้วนที่ยังคงอาศัยอยู่บนโลกของเรา
ที่มา: Earth, Ecowatch, The Guardian