เปิดเบื้องหลัง 72 ชั่วโมง ‘ชี้เป็น - ชี้ตาย’ ก่อนสหรัฐ สกัด ‘แบงก์ล้ม’

เปิดเบื้องหลัง 72 ชั่วโมง ‘ชี้เป็น - ชี้ตาย’ ก่อนสหรัฐ สกัด ‘แบงก์ล้ม’

วิกฤติธนาคารสหรัฐล้มในปัจจุบัน อาจลุกลามยิ่งกว่านี้ หากขาดมาตรการ และการตัดสินใจอันเฉียบขาดทันท่วงทีของหน่วยงานกำกับดูแล เปิดเบื้องหลัง 72 ชั่วโมงก่อนเข้ายึดแบงก์ล้มล่าสุด ต้องเผชิญอุปสรรค และความท้าทายอะไรบ้าง กว่าจะออกมาเป็นแผนหยุดยั้งผลกระทบโดมิโนได้

Key Points

  • คีย์แมนสำคัญด้านการเงินสหรัฐ “เยลเลน” รมว.คลัง และ “พาวเวล” ประธานเฟด ประชุมเครียด 72 ชั่วโมงก่อนทางการเข้ายึด 2 แบงก์ที่ล้ม
  • รัฐบาลสหรัฐประกาศรับประกันเงินฝาก “เต็มจำนวน” ของธนาคาร SVB และธนาคาร Signature ขณะที่เฟดเตรียมปล่อยเงินกู้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธนาคารทั้งหลาย
  • มาตรการช่วยเหลือเหล่านี้ ย้ำเตือนถึงความเปราะบางของระบบการเงินสหรัฐ แม้ว่าหน่วยงาน จะกางตำราหลักเกณฑ์เล่มใหม่มาปรับใช้ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา

 

ในฉากหน้าของวิกฤติธนาคารสหรัฐที่ส่อเค้าคลี่คลายลง กลับมีเบื้องหลังที่น่าลุ้นระทึก และตึงเครียด ด้วยเหตุที่การตัดสินใจใดๆ ก็ตามของภาครัฐ ย่อมกระทบชีวิตชาวอเมริกัน และทั้งโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รายละเอียดเบื้องหลังเหล่านี้ได้ถูกบันทึกไว้โดยสำนักข่าว Financial Times ซึ่งรายงานว่า ช่วงหลายชั่วโมงหลังตลาดหุ้นสหรัฐเปิดทำการเมื่อเช้าวันศุกร์ (10 มี.ค.) ที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐได้เข้าควบคุมธนาคาร Silicon Valley (SVB) ที่ประสบปัญหาจากประชาชนตื่นตระหนกแห่ถอนเงินฝากจำนวนมาก

 

  • ผู้คนตื่นตระหนกแห่ถอนเงินธนาคาร SVB

เหตุการณ์ดังกล่าวในช่วงแรก ดูเหมือนเป็นความล้มเหลวของ “ธนาคารเพียงแห่งเดียว” ที่มีความสัมพันธ์เหนียวแน่นกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แต่ไม่นานนักกลับกลายเป็นว่าสถานการณ์อาจบานปลายจนไม่อาจควบคุมได้

ภายใน 48 ชั่วโมง หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐ ก็เตรียมชุดมาตรการฉุกเฉินเพื่อยับยั้งความโกลาหลในหมู่ประชาชนผู้ฝากเงิน และป้องกันผลกระทบลุกลามไปถึงภาคส่วนที่เหลือของระบบธนาคารสหรัฐ สำหรับบางคน ความพยายามนี้ทำให้หวนนึกถึงการจัดการกับการระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563 และวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์เมื่อปี 2551

 

เปิดเบื้องหลัง 72 ชั่วโมง ‘ชี้เป็น - ชี้ตาย’ ก่อนสหรัฐ สกัด ‘แบงก์ล้ม’ - ธนาคาร Silicon Valley (เครดิต: AFP) -

จากนั้น ภายในช่วงเย็นวันอาทิตย์ (12 มี.ค.) รัฐบาลสหรัฐประกาศว่าจะรับประกันเงินฝาก “เต็มจำนวน” ของธนาคาร SVB และธนาคารอีกรายคือ Signature ซึ่งปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทคริปโทเคอร์เรนซี ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็เปิดโครงการ Bank Term Funding Program มูลค่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ให้แก่ ธนาคารอื่นๆ อีกหลายแห่งที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง เพื่อรับประกันว่าธนาคารจะมีเงินสดมากพอตามความต้องการของผู้ฝากเงิน

กฤษณา กูฮา อดีตเจ้าหน้าที่เฟด สาขานิวยอร์ก ซึ่งปัจจุบันเป็นรองประธาน Evercore ISI บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ แสดงความเห็นว่า “นโยบายต่างๆ ที่ภาครัฐนำมาใช้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ถือว่าเชิงรุกอย่างมาก เมื่อเทียบกับตัวเลือกอื่นๆ ที่มีอยู่”

 

  • ความวิตกธนาคารล้มไปสู่ธนาคาร First Republic

อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือเบื้องต้นของสหรัฐทำให้เกิดกระแสหวั่นเกรงว่า อาจยังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้ง “ผลกระทบโดมิโน” จากวิกฤติธนาคารล้ม ต่อมาในวันจันทร์ (13 มี.ค.) หุ้นของธนาคาร First Republic และธนาคารอื่นๆ ในสหรัฐจึงถูกเทขายอย่างหนัก

อันที่จริงแล้ว มาตรการเหล่านี้ ย้ำเตือนทุกฝ่ายถึงความเปราะบางของระบบการเงินสหรัฐ แม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแล กางตำราหลักเกณฑ์เล่มใหม่มาปรับใช้ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาแล้วก็ตาม หลังจากเกิดวิกฤติการเงินในปี 2551

หลายชั่วโมงหลังจากหน่วยงาน FDIC ซึ่งคุ้มครองเงินฝากประชาชน ตัดสินใจเข้าควบคุมธนาคาร SVB บรรดาหน่วยงานกำกับดูแล และสมาชิกสภาของสหรัฐ ก็เล็งเห็นชัดเจนว่า มีความจำเป็นต้องงัดมาตรการที่เฉียบขาดมากขึ้นออกมาใช้หลังเกิดวิกฤติธนาคาร SVB ล้ม

 

เปิดเบื้องหลัง 72 ชั่วโมง ‘ชี้เป็น - ชี้ตาย’ ก่อนสหรัฐ สกัด ‘แบงก์ล้ม’

- มาร์ติน กรันเบิร์ก หัวหน้าหน่วยงาน FDIC (เครดิต: AFP) -

แอนนา เอสชู ส.ส.พรรคเดโมแครต ซึ่งเขตเลือกตั้งของเธออยู่ในย่านซิลิคอน วัลเลย์ กล่าวว่า “ดิฉันเข้าใจว่า เรามีเวลาเพียง 72 ชั่วโมงในการจัดการวิกฤตการณ์นี้” พร้อมกับเปรียบการพังครืนของธนาคาร SVB ว่า “รุนแรงระดับแผ่นดินไหว 7.9 ริกเตอร์!”

 

  • 3 ประเด็นถกเถียงในการประชุม แก้วิกฤติแบงก์ล้ม

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เมื่อเวลา 13.00 น.ของวันศุกร์ที่แล้ว หลังจากเข้ารายงานสถานการณ์ต่อสภาคองเกรส เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ได้ประชุมสายกับบรรดาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึง เจอโรม พาวเวล ประธานเฟด, มาร์ติน กรันเบิร์ก หัวหน้าหน่วยงาน FDIC, ไมเคิล ชู หัวหน้าสำนักงานผู้ควบคุมเงินตราของสหรัฐ (Office of the Comptroller of the Currency) และแมรี เดลี ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก

 

เปิดเบื้องหลัง 72 ชั่วโมง ‘ชี้เป็น - ชี้ตาย’ ก่อนสหรัฐ สกัด ‘แบงก์ล้ม’

- เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ (เครดิต: AFP) -

 

เปิดเบื้องหลัง 72 ชั่วโมง ‘ชี้เป็น - ชี้ตาย’ ก่อนสหรัฐ สกัด ‘แบงก์ล้ม’

- เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เครดิต: AFP) -

 

จากนั้นในวันเสาร์ การหารือดังกล่าวเริ่มเข้มข้นขึ้น เยลเลน, พาวเวล และกรันเบิร์ก ร่วมหารือกันอีกครั้ง และเชิญ ไมเคิล บาร์ รองประธานเฟดมาร่วมวงสนทนาด้วย โดยทั้ง 4 คนนี้หารือกันใน 3 ประเด็นดังนี้

1. เฟ้นหาผู้ซื้อกิจการธนาคาร SVB

2. ให้เฟดออกมาตรการเสริมสภาพคล่องใหม่แก่ทุกธนาคาร และ

3. จำกัดความเสี่ยงเชิงระบบของผลกระทบจากการล้มของธนาคาร SVB และ Signature ด้วยการคุ้มครองเงินฝากทั้งหมดของทั้ง 2 ธนาคาร แม้แต่เงินฝากในส่วนที่เกินจากเพดาน 250,000 ดอลลาร์/บัญชี/ธนาคาร

นอกจากนี้ ทางการสหรัฐไม่ได้โฟกัสเพียงช่วยเหลือธนาคาร SVB เท่านั้น แต่ยังหารือเรื่องการขายทอดตลาดธนาคาร SVB ด้วย

 

  • ความท้าทายการขายธนาคาร SVB

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของ FDIC ในการขายทอดตลาดธนาคาร SVB กลับประสบความล้มเหลว ผู้ร่วมแข่งประมูลรับรู้ถึงความเสี่ยงที่ต้องแบกรับภาวะขาดทุนหากเข้าซื้อธนาคารนี้ ขณะที่ล็อบบี้ยิสต์ธนาคารรายหนึ่งกล่าวว่า “หน่วยงาน FDIC เคลื่อนไหวช้าเกินไป”

ผู้ที่มีศักยภาพในการซื้อธนาคาร SVB ต้องการให้รัฐบาลสหรัฐรับประกันความเสี่ยงด้วย แต่จากการปรากฏตัวของเยลเลนเมื่อวันอาทิตย์ กลับแสดงให้เห็นถึงท่าทีที่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่ให้การช่วยเหลือธนาคารต่างๆ โดยตรง พร้อมส่งสัญญาณว่าจะคุ้มครองเพียงผู้ฝากเงิน

นอกจากนั้น แหล่งข่าวใกล้ชิดระบุว่า หน่วยงาน FDIC เชิญสถาบันการเงินต่างๆ เช่น PNC Financial Services บริษัทโฮลดิ้งด้านการเงินที่มีสำนักงานใหญ่ในเมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย และธนาคาร Royal Bank of Canada ที่มีสำนักงานใหญ่ในเมืองโตรอนโต มาเสนอราคาประมูลซื้อธนาคาร SVB และอนุญาตให้เข้ามาดูงบการเงินแบงก์ดังกล่าวได้

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองธนาคารมองว่า ดีลนี้ไม่สมเหตุสมผล และได้ถอนตัวไป

จากเหตุการณ์ช่วงบ่ายวันอาทิตย์ (12 มี.ค.) ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า FDIC กำลังเผชิญความท้าทายการขายธนาคารนี้ และมีแนวโน้มที่จะหาผู้ซื้อกิจการ SVB ไม่ได้

 

  • หาก SVB ล้ม บริษัทนวัตกรรมสหรัฐอาจล้มด้วย

ท่ามกลางความหวั่นเกรงว่า รัฐบาลสหรัฐอาจไม่ปกป้องธนาคาร SVB และผู้ฝากเงินที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง บรรดากลุ่มเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) จึงได้พยายามล็อบบี้รัฐบาลในเรื่องนี้

แหล่งข่าวรายหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับการล็อบบี้ดังกล่าว เปิดเผยว่า “ประเด็นหลักของการล็อบบี้คือ ไม่ใช่แค่การปกป้องธนาคารเท่านั้น แต่ต้องปกป้องเศรษฐกิจนวัตกรรมที่พึ่งพาเงินทุนธนาคาร SVB ด้วย เพื่อรักษาความสามารถการแข่งขันนวัตกรรมของสหรัฐเพื่อสู้กับจีน

ด้าน แบรด เชอร์มา ส.ส.พรรคเดโมแครต จากรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งอยู่ในคณะกรรมาธิการด้านบริการทางการเงินของสภาผู้แทนราษฎร มองว่า รัฐบาลต้องใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นตลาด หลังการล้มของธนาคาร Signature

 

  • “ไบเดน” กับการตัดสินใจที่แข่งกับเวลา

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ใช้เวลาที่บ้านพักในเมืองวิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวระบุว่า ตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว ไบเดนได้รับสรุปสถานการณ์จาก เลล เบรนาร์ด อดีตรองประธานเฟด ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ และ เจฟฟ์ ไซเอนท์ซ หัวหน้าคณะทำงานของประธานาธิบดี

 

เปิดเบื้องหลัง 72 ชั่วโมง ‘ชี้เป็น - ชี้ตาย’ ก่อนสหรัฐ สกัด ‘แบงก์ล้ม’

- โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ (เครดิต: AFP) -

 

ขณะที่ในการประชุมครั้งสำคัญเมื่อช่วงบ่ายวันอาทิตย์ เยลเลนได้อัปเดตสถานการณ์ให้กับไบเดน, เบรนาร์ด และไซเอนท์ซ เพื่อให้ประธานาธิบดีอนุมัติมาตรการช่วยเหลือธนาคารอย่างเร่งด่วน 

ในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา ราวเวลา 18.15 น. วันที่ 12 มี.ค. 2566 มีการประกาศมาตรการต่างๆ ออกสู่สาธารณะ โดยเป็นแถลงการณ์ร่วม 3 ฝ่ายโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (FDIC)

“วันนี้ เราได้ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อปกป้องเศรษฐกิจสหรัฐ ด้วยการฟื้นความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อระบบธนาคาร” แถลงการณ์ระบุ

มาตรการเหล่านี้รวมไปถึงการคุ้มครองเงินฝาก “เต็มจำนวน” ของผู้ฝากเงินใน 2 ธนาคารที่ล้ม ยกเว้นผู้ถือหุ้นและพันธบัตร

อีกประการสำคัญคือ ความช่วยเหลือนี้จะไม่มีการอุ้มเหมือนช่วงวิกฤติการเงินปี 2551 โดยหน่วยงานกำกับดูแลสหรัฐระบุว่า จะไม่ใช้ภาษีประชาชนมาช่วยผู้ถือหุ้นและผู้ถือพันธบัตรในธนาคารที่ล้มรอบนี้

บุคคลใกล้ชิดประธานาธิบดีไบเดน กล่าวว่า “เรามองว่า นี่เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการจัดการวิกฤติ โดยไม่สร้างความขุ่นเคืองแก่สาธารณะด้วยการใช้เงินภาษีประชาชน ไม่มีใครอยากถูกตำหนิว่านำเงินของผู้เสียภาษีมาอุ้มเงินในบัญชีคนรวย”

เจฟฟ์ แจ็คสัน ส.ส.พรรคเดโมแครต จากรัฐนอร์ทแคโรไลนา ระบุว่า หลังจากประกาศชุดมาตรการช่วยเหลือนี้ออกมา กระทรวงการคลังก็จัดการประชุมซูมกับสมาชิกสภานิติบัญญัติสหรัฐหลายร้อยคน โดยแจ้งให้พวกเขาทราบเรื่องเพียง 15 นาทีก่อนเปิดการประชุมออนไลน์

“ไม่มีสมาชิกสภาคนไหนคัดค้านมาตรการคุ้มครองเงินฝากประชาชนของกระทรวงการคลัง ทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันต่างถามในทำนองเดียวกันว่า ‘ความช่วยเหลือดังกล่าวมันเพียงพอแล้วหรือ?’ แจ็คสันเผย

แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่คุ้มครองนักลงทุน คุ้มครองเฉพาะผู้ฝากเงิน จนทำให้นักลงทุนแห่เทขายหุ้นธนาคารออกมา แต่มาตรการนี้ก็ผ่านบททดสอบสำคัญคือ นับถึงวันนี้ (16 มี.ค.) ยังไม่มีธนาคารใดล้มอีก หลังสหรัฐออกมาตรการช่วยเหลือ แต่ยังคงต้องติดตามกันต่อไป

 

อ้างอิง: ft federalreserve

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์