BOJ ส่งสัญญาณ 'พร้อมใช้นโยบายการเงิน' หากเงินเยนยังอ่อนค่าไม่เลิก
ธนาคารกลางญี่ปุ่นส่งสัญญาณชัด มีโอกาสใช้นโยบายการเงินสู้เงินเยนอ่อนค่า หากทิศทางยังร่วงหนักจนกระทบเงินเฟ้อ สื่อชี้เป็นการขู่ขึ้นดอกเบี้ยที่ชัดที่สุดเท่าที่เคยพูดมา
คาซึโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวในวันนี้ (8 เม.ย.) ว่า บีโอเจอาจต้องดำเนินมาตรการทางการเงิน หากค่าเงินเยนเคลื่อนไหวมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ซึ่งนับเป็นการตอกย้ำคำเตือนจากบีโอเจว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจถูกกระทบจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่ามากเกินไป
อุเอดะกล่าวว่า ผลกระทบของเงินเยนอ่อนค่าต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นส่งผลกระทบในหลายทาง ซึ่งรวมถึงการทำให้ราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้น และความต้องการบริโภคสินค้าและบริการในประเทศ
แม้ BOJ จะไม่ต้องการใช้นโยบายการเงินควบคุมการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนโดยตรง แต่ก็จะพิจารณาผลกระทบขนาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและราคา
"ค่าจ้างของบริษัทเอกชนและพฤติกรรมการกำหนดราคา กำลังมีบทบาทมากขึ้นต่อเรื่องนี้ ดังนั้น BOJ จึงจำเป็นต้องจับตามองความเสี่ยงผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินที่มีต่อเงินเฟ้อ ว่าจะแรงกว่าในอดีตที่ผ่านหรือไม่"
"การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ดังนั้น จึงมีโอกาสที่เรา (BOJ) อาจจำเป็นต้องรับมือด้วยการใช้นโยบายการเงิน" อุเอดะกล่าวต่อรัฐสภาญี่ปุ่น
ความเห็นครั้งล่าสุดนี้ถือเป็นการ "เปลี่ยนแปลง" จากที่อุเอดะเคยแถลงเอาไว้หลังการประชุม BOJ เมื่อเดือนก่อน ซึ่งในครั้งนั้นผู้ว่าการแบงก์ชาติญี่ปุ่นระบุว่า เงินเยนที่อ่อนค่าลงไม่ได้ส่งผลกระทบในทันทีต่อทิศทางเงินเฟ้อ และความเห็นดังกล่าวถูกตลาดตีความว่า BOJ จะยังไม่รีบ "ขึ้นดอกเบี้ย" เพื่อพยุงค่าเงิน ส่งผลให้ค่าเงินเยนยิ่งอ่อนค่าลงหนักไปอีก
รอยเตอร์สระบุว่าความเห็นล่าสุดของผู้ว่า BOJ ในวันนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณที่แรงที่สุดเท่าที่เคยพูดมาว่า การอ่อนค่าลงอย่างไม่สิ้นสุดของเงินเยน อาจเป็นชนวนไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยของญี่ปุ่นอีกครั้ง
ทางด้านชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น ส่งสัญญาณแสดงความกังวลอย่างชัดเจนเช่นกันถึงผลกระทบในเชิงลบจากเงินเยนที่อ่อนค่าหนัก เช่น ต้นทุนสินค้านำเข้าที่แพงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อครัวเรือนและภาคเอกชน และย้ำอีกครั้งว่าญี่ปุ่นพร้อมที่จะทำทุกวิถีทางที่เป็นไปได้เพื่อพยุงค่าเงินเยน
อิซึรุ คาโตะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโทตัน รีเสิร์ช กล่าวว่า BOJ ไม่ได้ต้องการให้รู้สึกว่า ถูกบังคับให้ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพราะเรื่องค่าเงินเยน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแสดงออกให้เห็นว่า BOJ ให้ความสำคัญกับผลกระทบจากเงินเยนอ่อนค่า และผู้ว่าฯ อาจต้องพยายามรักษาสมดุลด้วยการ "เปลี่ยนโทน" ของสัญญาณที่ส่งออกไปบ้าง
ทั้งนี้ ค่าเงินเยนยังทรงตัวโดยเคลื่อนไหวที่ระดับ 155.20 เยน เมื่อวันที่ 8 พ.ค. หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 34 ปี จนลงไปแตะระดับ 160.245 เยนต่อดอลลาร์มาแล้วเมื่อวันที่ 29 เม.ย. แต่หลังจากนั้นก็พบว่าเงินเยนกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็วภายในวันเดียวกัน และแข็งค่าจนไปแตะระดับ 151.86 ในวันที่ 3 พ.ค.
รอยเตอร์สระบุว่าทางการญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงค่าเงินในตลาด โดยใช้เงินเข้าแทรกแซงมากถึงกว่า 9 ล้านล้านเยน (ราว 2.16 ล้านล้านบาท) ในสัปดาห์ที่แล้ว