'รายย่อยญี่ปุ่น' ขนเงินแห่ลงทุนนอก 6 ล้านล้านเยน ฉุดเงินเยนอ่อนค่า

'รายย่อยญี่ปุ่น' ขนเงินแห่ลงทุนนอก 6 ล้านล้านเยน ฉุดเงินเยนอ่อนค่า

ครัวเรือนญี่ปุ่นแห่ลงทุนหุ้น - กองทุนต่างประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ผ่านโครงการ NISA พบครึ่งปีขนเงินออกไปช้อปแล้วกว่า 6 ล้านล้านเยน ยิ่งเป็นปัจจัยฉุด 'ค่าเงินเยน' อ่อนค่าลง

เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียรายงานว่า นักลงทุนรายย่อยในญี่ปุ่นได้ลงทุนซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 นี้ ซึ่งนับเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ฉุดเงินเยนให้อ่อนค่าลง และคาดว่าการขนเงินลงทุนนอกของรายย่อยในครั้งนี้อาจพุ่งแซงหน้าการขาดดุลการค้าของญี่ปุ่นในครึ่งปีแรกไปแล้ว  

รายงานระบุว่านับตั้งแต่เดือนม.ค. ปีนี้ ที่รัฐบาลปรับเกณฑ์ใหม่ในโครงการบัญชีออมทรัพย์ส่วนบุคคลนิปปอน (NISA) ซึ่งยกเว้นภาษีเงินปันผล และกำไรจากการลงทุนให้นักลงทุนส่วนบุคคล เพื่อกระตุ้นให้รายย่อยนำเงินออมออกมาลงทุนในตลาดหุ้นให้มากขึ้นนั้น พบว่าบริษัทจัดการ การลงทุนต่างๆ เข้าซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศมากถึงราว 1 ล้านล้านเยนต่อเดือน (ราว 2.26 แสนล้านบาท) จากอานิสงส์ของโครงการนี้
 
จากข้อมูลของกระทรวงการคลังญี่ปุ่นพบว่าในรอบ 6 เดือนแรกของปีนี้ บรรดาบริษัทจัดการ การลงทุน และบริษัทจัดการสินทรัพย์ได้ซื้อสุทธิหุ้น และกองทุนในต่างประเทศถึง 6.16 ล้านล้านเยน (ราว 1.4 ล้านล้านบาท) 

นอกจากตัวเลขดังกล่าวจะเป็นการลงทุนสูงสุดทุบสถิติใหม่ของรายย่อยในญี่ปุ่นแล้ว ก็ยังเป็นจำนวนมากกว่าการขาดดุลการค้าของประเทศในช่วงเวลาเดียวกันด้วย ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านล้านเยน  

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับนักลงทุนสถาบันในญี่ปุ่นพบว่า นักลงทุนรายใหญ่ไม่ได้มุ่งลงทุนในต่างประเทศมากนัก โดยกลุ่มสถาบันการเงินซื้อสุทธิช่วงครึ่งปีแรกเพียง 2.2 แสนล้านเยน ในขณะที่บรรดากองทุนบำเหน็จบำนาญขายสุทธิออกไป 9.43 ล้านล้านเยน 

ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้นักลงทุนรายย่อยนำเงินออมไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยดัชนีราคาผู้บริโภค CPI (ไม่รวมอาหารสด และพลังงาน) ในญี่ปุ่นขยายตัวมากกว่า 2% ต่อเดือน นับตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงของปี 2565 เป็นต้นมา และตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนพ.ค. อยู่ที่ 2.1% หรือมากกว่ากรอบเป้าหมาย 2% ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กำหนดเอาไว้ 

"จริงๆ แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่อะไรนัก เพียงแต่น่ากังวลอยู่บ้างในแง่ทางบัญชี" มาซาโตะ คันดะ อดีตรัฐมนตรีช่วยคลังที่ดูแลด้านการระหว่างประเทศกล่าว 

ทั้งนี้ค่าเงินเยนซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 140 เยนต่อดอลลาร์เมื่อต้นปีนี้ ปัจจุบันอ่อนค่าลงหนักจนลงมาเคลื่อนไหวที่ประมาณ 160 เยนต่อดอลลาร์ การที่จะลดกระแสการขนเงินออกไปลงทุนนอกบ้านของรายย่อยจึงต้องเพิ่มผลตอบแทนความน่าสนใจของตลาดหุ้น และผลิตภัณฑ์ทางการเงินในญี่ปุ่นให้มากขึ้น

ชินโง อิเดะ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมการเงินของสถาบันวิจัย NLI ระบุว่า บริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่นเองก็เริ่มดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อปรับปรุงเรื่องการทำกำไร และการใช้ทุนอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เพียงแต่การจะเปลี่ยนแปลงเทรนด์การลงทุนของรายย่อยอย่างเห็นผลอาจต้องใช้เวลาอีกระยะ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์