ดัชนีดาวโจนส์ ลบกว่า 377 จุด ตลาดหุ้นสหรัฐ ดิ่งหลังเกิดเหตุ 'ระบบล่มทั่วโลก'

ดัชนีดาวโจนส์ ลบกว่า 377 จุด ตลาดหุ้นสหรัฐ ดิ่งหลังเกิดเหตุ 'ระบบล่มทั่วโลก'

ดัชนีดาวโจนส์ ล่มกว่า 377 จุด ระบบล่มทั่วโลกสะเทือน ตลาดหุ้นสหรัฐ หุ้น Crowdstrike ดิ่งหนัก 11% ขณะนักลงทุนเทขายหุ้นบิ๊กเทค

ดัชนีดาวโจนส์ ตลาดหุ้นสหรัฐ ปิดลบในวันศุกร์ที่ 19 ก.ค. เนื่องจากความปั่นป่วนที่เกิดจากการหยุดชะงักทางเทคนิคทั่วโลก อันเนื่องมาจากข้อผิดพลาดของซอฟต์แวร์บริษัท "คราวด์สไตรค์" (Crowdstrike) ทำให้ตลาดที่มีความวิตกกังวลอยู่แล้วมีความไม่แน่นอนมากขึ้น

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones) ปิดลบ 377.49 จุด หรือ -0.93% ปิดที่ 40,287.53 จุด 
  • ดัชนีเอสแอนด์พี 500 (S&P 500) ปิดลบ 39.59 จุด หรือ -0.71% ปิดที่ 5,505.00 จุด 
  • ดัชนีแนสแด็ก คอมโพสิต (Nasdaq) ปิดลบ 44.28 จุด หรือ -0.81% ปิดที่ 17,726.94 จุด 
     

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนี Nasdaq และ S&P 500 ปรับตัวลงรายสัปดาห์รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ซึ่งทำสถิติสูงสุดใหม่ในช่วงต้นสัปดาห์นั้น ปรับตัวขึ้นในรอบสัปดาห์นี้

ในบรรดาหุ้น 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 นั้น หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงมากที่สุด ขณะที่กลุ่มเฮลท์แคร์และกลุ่มสาธารณูปโภคเป็นเพียง 2 กลุ่มที่ปรับตัวขึ้นสวนทางตลาด

 

ความผิดพลาดที่เกิดกับซอฟต์แวร์ของ Crowdstrike ซึ่งเป็น บริษัทรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ นั้นทำให้ระบบปฏิบัติการ Windows ของ Microsoft ล่ม ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักทางเทคนิคที่กระทบต่อการดำเนินงานในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงสายการบิน ธนาคาร และการดูแลสุขภาพ

แม้ว่ามีการตรวจพบข้อบกพร่องและแก้ไขแล้ว แต่ปัญหาทางเทคนิคก็ยังคงส่งผลกระทบต่อบริการบางส่วน

หุ้น Crowdstrike ร่วงลง 11.1% ขณะที่หุ้นของบริษัทคู่แข่งด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่าง Palo Alto Networks และ SentinelOne พุ่งขึ้น 2.2% และ 7.8% ตามลำดับ

ดัชนีความผันผวนของตลาด ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดความวิตกกังวลของนักลงทุนนั้น แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย.

หุ้นกลุ่มชิป ร่วงลงจากแรงเทขาย นำโดยหุ้นอินวิเดีย ขณะที่ดัชนีหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ของตลาดฟิลาเดลเฟีย ร่วงลง 3.1%

หุ้นเน็ตฟลิกซ์ ร่วงลง 1.5% ในการซื้อขายที่ผันผวน หลังจากบริษัทเตือนว่า การเพิ่มจำนวนผู้สมัครสมาชิกในไตรมาส 3 จะต่ำกว่าปีก่อน

ด้านนายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กได้ระบุย้ำถึงความมุ่งมั่นของเฟดในการปรับลดอัตราเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%

เครื่องมือ FedWatch ของ CME บ่งชี้ว่า ตลาดการเงินคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ 93.5% ที่เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือนก.ย.

ส่วนในสัปดาห์หน้า นักลงทุนจะจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทเทสลา, อัลฟาเบท, ไอบีเอ็ม และเจนเนอรัล มอเตอร์ส