'ตลาดหุ้นไทย' เสี่ยงโดน 'สิงคโปร์-มาเลย์' แซง ต่างชาติชี้ถูกแต่ไม่น่าลงทุน

'ตลาดหุ้นไทย' เสี่ยงโดน 'สิงคโปร์-มาเลย์' แซง ต่างชาติชี้ถูกแต่ไม่น่าลงทุน

'ตลาดหุ้นไทย' เสี่ยงถูก 'สิงคโปร์-มาเลเซีย' แซงหน้าในฐานะเบอร์ 2 ของภูมิภาค 'การเมือง-เศรษฐกิจ-กลโกงบจ.' ฉุด SET ดิ่งเหวหนักสุดในโลก ต่างชาติชี้อาจเป็น Value trap ราคาถูกจริง แต่ไม่น่าลงทุน มองประเทศอื่นน่าสนใจกว่าตลาดหุ้นไทย

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า "ตลาดหุ้นไทย" ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาหลายปี อาจจะกำลัง "เสียแชมป์ตลาดใหญ่สุดอันดับ 2" ให้กับคู่แข่งอย่างตลาดหุ้น "สิงคโปร์" และ "มาเลเซีย" หลังจากความรุ่งเรืองของตลาดหุ้นไทยกำลังตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งแม้ว่ามูลค่าหุ้นไทยจะถูกลงมามากแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถช่วยอะไรได้ 

จากการรวบรวมข้อมูลของบลูมเบิร์กพบว่า ปัจจุบันช่องว่างระหว่างมูลค่าตลาดหุ้นไทยกับสิงคโปร์ กำลังห่างกันเพียง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์เท่านั้น (ราว 5 แสนล้านบาท) จากเดิมที่เคยห่างกันถึง 1.25 แสนล้านดอลลาร์ (เกือบ 4.5 ล้านล้านบาท) เมื่อปีก่อน  
 

ตลาดหุ้นไทยที่ตกต่ำลงอย่างรวดเร็วเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องการเมืองและกฎหมายที่กลับไปกลับมาไม่มีความแน่นอน การใช้จ่ายในภาคการท่องเที่ยวที่อ่อนแรงเกินคาด และข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำผิดของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดแรงเทขายในดัชนี SET ตลาดหุ้นไทยถึง 14% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และนับเป็นการร่วงลง "ครั้งใหญ่สุด" ในบรรดาดัชนีสำคัญๆ ทั่วโลก
 

"ตลาดมีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นกับดักมูลค่า (value trap) จนกว่าแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทจะดีขึ้น" อลัน ริชาร์ดสัน ผู้จัดการกองทุนจากบริษัทซัมซุง แอสเซต แมเนจเมนต์ จำกัด กล่าวถึงกับดักมูลค่าของตลาดหุ้นไทยที่แม้ว่าหุ้นจะมีราคาถูก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นหุ้นที่น่าลงทุนเสมอไป

บลูมเบิร์กระบุว่า มูลค่าโดยรวมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ประมาณ 4.4 แสนล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 25 ก.ค. ซึ่งสูงกว่าเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่า 4.26 แสนล้านดอลลาร์ ของตลาดหุ้นสิงคโปร์ และ 4.22 แสนล้านดอลลาร์ ของตลาดหุ้นมาเลเซีย ในขณะที่ตลาดหุ้นอินโดนีเซียครองความเป็นผู้นำในภูมิภาคที่มูลค่าราว 7.49 แสนล้านดอลลาร์ โดยยืนหนึ่งมาตั้งแต่ปลายปี 2564  

มาตรการฟื้นความเชื่อมั่นไม่ช่วยอะไร

การผิดทิศผิดทางจากที่ควรจะเป็นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังการระบาดของโควิด-19 ที่ประเทศไทยเริ่มคลายมาตรการควบคุมโควิดตั้งแต่ปลายปี 2565 นักลงทุนคาดหวังว่านักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาอีกครั้งและช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย แต่กลับกลายเป็นว่าการควบคุมโควิดที่เข้มงวดและเศรษฐกิจที่อ่อนแรงลงเกินคาดของ "จีน" ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาน้อยกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ โดยคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่กว่า 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวในปี 2562 ท่ามกลางการใช้จ่ายที่น้อยลงด้วย

ในขณะที่ "ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง" ตั้งแต่เรื่องเก้าอี้ที่สั่นคลอนของของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ไปจนถึงมาตรการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ที่เจอโรคเลื่อนมาหลายครั้ง ก็ยังส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยด้วย

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อฟื้นความเชื่อมั่น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนทั่วโลกได้ เฉพาะในปี 2567 ต่างชาติเทขายหุ้นไทยไปแล้วเกือบ 3,300 ล้านดอลลาร์ ตัวเลขนี้เทียบเคียงได้กับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และนับเป็นการลดลงหนักที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563 

ในทางกลับกัน นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนเพิ่ม 85 ล้านดอลลาร์ใน "ตลาดหุ้นมาเลเซีย" ซึ่งเป็นตลาดเดียวในอาเซียนที่มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิในปีนี้ ส่วนสิงคโปร์นั้นพบว่าต่างชาติขายลดลงมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากข้อมูลของ EPFR 

"ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงและวินัยทางการคลังก็หายไปพร้อมกับมาตรการแจกเงินของรัฐบาลชุดใหม่" แซต ดูห์รา ผู้จัดการกองทุนของบริษัทเจนัส เฮนเดอร์สัน กรุ๊ป กล่าวและระบุด้วยว่า "มีโอกาสอื่นๆ ที่ดีกว่ามากในเอเชีย"