ปิดสถานะ ‘Carry Trade’ เยน ดัน ‘หยวน’ แข็งค่า เปิดโอกาสธนาคารกลางจีนลดดอกเบี้ย
กรณีความปั่นป่วนตลาดหุ้นทั่วโลกจากการปิดสถานะ ‘Carry Trade’ เยน หลังธนาคารกลางญี่ปุ่นเล็งขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้เยนแข็งค่า และกระตุ้นให้หยวนแข็งตาม จนอาจเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้
จากเหตุการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหวหนักช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา นักวิเคราะห์หลายคนประเมินว่าอาจมาจากเรื่องการถอน “Carry Trade” ของเงินเยนญี่ปุ่น ซึ่ง Carry Trade เป็นกลยุทธ์เก็งกำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในแต่ละประเทศ ด้วยการไปกู้ยืมเงินในสกุลเงินที่ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปลงทุนในสกุลเงินที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า
แต่เดิมต้นทุนการกู้เงินเยนถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ จึงมักถูกกู้ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงในประเทศอื่น โดยทำกำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดในรอบ 15 ปี ทำให้นักเทรดพากันปิดสถานะ Carry Trade เพื่อจ่ายหนี้เงินกู้จากญี่ปุ่น จนทำให้เกิดแรงเทขายหุ้นทั่วโลกขึ้นมา
เช่นเดียวกับเงินเยนญี่ปุ่น “เงินหยวนจีน” ถูกนำมาใช้เทรดแบบ Carry Trade เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและความผันผวนต่ำของจีน การเทรดแบบนี้สร้างแรงกดดันให้เงินหยวนอ่อนค่าลง
สถานการณ์โลกเปลี่ยน ดันหยวนแข็งขึ้น
อย่างไรก็ตาม “สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป” เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ส่งสัญญาณว่าอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีการคาดการณ์มากขึ้นว่า สหรัฐอาจลดอัตราดอกเบี้ยลง
การเปลี่ยนแปลงนี้ได้นำไปสู่การปิดสถานะ Carry Trade ของนักลงทุนมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้หยวนแข็งค่าขึ้น
“การแข็งค่าของเยนญี่ปุ่น ได้กระตุ้นให้เกิดการปิดสถานะ Carry Trade อัตราดอกเบี้ยบางส่วน ซึ่งส่งผลดีต่อหยวนโดยอ้อม เนื่องจากหยวนก็ถูกนำมาใช้เป็นสกุลเงินกู้ยืมหลักเช่นกัน” ชารุ ชานานา (Charu Chanana) หัวหน้ากลยุทธ์อัตราแลกเปลี่ยนของ Saxo แห่งธนาคาร Danish กล่าว
เธอเสริมอีกว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ลดลง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการปิดสถานะการเก็งกำไรอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน
หยวนแข็งค่า เปิดโอกาสธนาคารกลางจีนลดดอกเบี้ย
จากก่อนหน้าที่การอ่อนค่าของหยวน เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลดดอกเบี้ย เนื่องจากจีนต้องการรักษาเสถียรภาพและส่งเสริมบทบาทหยวนในฐานะสกุลเงินโลก แต่เมื่อหยวนแข็งค่าขึ้นในปัจจุบัน ช่วยสร้างพื้นที่ให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ผ่อนคลายนโยบายการเงินได้มากขึ้น ท่ามกลางประเทศที่เผชิญอัตราเงินเฟ้อต่ำและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแอ
“เจ้าหน้าที่จีนอาจมองการเปลี่ยนแปลงท่าทีของเฟด และการแข็งค่าของหยวนเป็นสัญญาณบวกสำหรับการลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม” ชานานากล่าว
ด้าน Citigroup มองว่า หยวนจีนมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกกดดันจากการปิดสถานะการเก็งกำไรอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก โดยหยวนได้แข็งค่าขึ้น เนื่องจากการปรับลดการเทรดแบบ Carry Trade ทั่วโลก และใกล้จะลบการขาดทุนในปีนี้ เนื่องจากนักลงทุนปิดสถานะขายเงินหยวน การฟื้นตัวดังกล่าวถือเป็นข่าวดีสำหรับธนาคารกลางจีน เนื่องจากอาจทำให้ธนาคารกลางผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา
ทั้งนี้ การเทรดแบบ Carry Trade ที่ใช้เงินเยนเป็นทุนได้รับความนิยมเมื่ออัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำ แต่เมื่อนักเทรดได้ทยอยปิดสถานะขายเงินเยน เนื่องจากคำพูดที่แข็งกร้าวของธนาคารกลางญี่ปุ่น ประกอบกับความวิตกเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลง การแข็งค่าของเงินเยนนี้ได้ทำให้เงินหยวนฟื้นตัวแรงขึ้น จากความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างสองสกุลเงินตามที่นักยุทธศาสตร์ของ Citibank ระบุ
อ้างอิง: nikkei, bloomberg