‘อัลกอริทึม’ ช่วยกองทุน-ป๊อปเทรดทำกำไรหุ้น 2 แสนล้าน สวนทางรายย่อยที่ขาดทุนยับ

‘อัลกอริทึม’ ช่วยกองทุน-ป๊อปเทรดทำกำไรหุ้น 2 แสนล้าน สวนทางรายย่อยที่ขาดทุนยับ

‘ตลาดหุ้นอินเดีย’ กลายเป็นสมรภูมิรบของเหล่านักลงทุน เมื่อ ‘อัลกอริทึม’ ทรงพลังของกองทุนต่างชาติและป๊อปเทรดช่วยกอบโกยกำไรมหาศาลจากตลาดอนุพันธ์ ขณะที่นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่กลับขาดทุนยับเยิน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “อัลกอริทึม” หรือการใช้ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์เทรด ได้ช่วยให้กองทุนต่างประเทศและป๊อปเทรด “ทำกำไรได้สูงถึง 588,400 ล้านรูปี” หรือราว 200,000 ล้านบาทจากการซื้อขายอนุพันธ์ที่อ้างอิงหุ้นอินเดีย

อย่างไรก็ตาม กำไรส่วนใหญ่ที่กองทุนและป๊อปเทรดได้ มาจากการสูญเสียของนักเทรดรายย่อย ซึ่งสูญเสียรวมกันกว่า 610,000 ล้านรูปีจากการเล่นฟิวเจอร์สและออปชั่นหุ้นในช่วงไตรมาสหนึ่ง

คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์อินเดีย (SEBI) จึงพยายามชะลอการเติบโตของกลุ่มอนุพันธ์ ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 40 เท่าตั้งแต่ปี 2019 โดยแตะระดับสูงสุดที่ 6 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งแซงหน้าขนาดของเศรษฐกิจอินเดีย โดย SEBI เตือนนักลงทุนรายย่อยหลายครั้งว่า เป็นการเสี่ยงมากในการพยายามเดิมพันกับผู้เล่นในตลาดการเงินที่มีทุนทรัพย์สูงกว่า และมีประสบการณ์มากกว่า

“มีโอกาสน้อยมากสำหรับนักเทรดรายย่อยที่จะเอาชนะโมเดลที่เขียนขึ้นทางคณิตศาสตร์” การ์ธิค โจนากัดลา ซีอีโอของ Quantace Research and Capital Pvt. ในมุมไบกล่าว “การซื้อขายออปชั่นหุ้นนั้นเป็นสิ่งที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง และโอกาสที่จะมีอัตราผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่เอื้ออำนวยนั้นน้อยมาก”

ทั้งนี้ ตลาดอนุพันธ์ของอินเดียกลายเป็นจุดสนใจระดับโลกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจาก Jane Street Group บริษัทชั้นนำจากสหรัฐ ประกาศว่ากลยุทธ์การลงทุนในอินเดียสร้างผลกำไรมหาศาลถึง 1 พันล้านดอลลาร์ การเปิดเผยครั้งนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่านักลงทุนรายย่อยมักตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการซื้อขายอนุพันธ์

ผลสำรวจล่าสุดของ SEBI พบว่า นักลงทุนรายย่อยในตลาดอนุพันธ์ของอินเดียส่วนใหญ่ หรือคิดเป็น 90% ประสบภาวะขาดทุนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยแล้ว นักลงทุนรายย่อยแต่ละรายขาดทุนประมาณ 200,000 รูปีหรือราว 8 หมื่นบาท มีเพียงกลุ่มนักลงทุนส่วนน้อย หรือเพียง 1% เท่านั้นที่ทำกำไรเกิน 100,000 รูปี และที่น่าสนใจคือ กว่า 75% ของนักลงทุนรายย่อยในอินเดีย มีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 500,000 รูปี (1.9 แสนบาท)

อ้างอิง: bloomberg