ราคาทองพุ่งแรง 24.50 ดอลลาร์ทุบสถิติใหม่ ทั้งปีนี้ขยับแล้ว 28%

ราคาทองพุ่งแรง 24.50 ดอลลาร์ทุบสถิติใหม่ ทั้งปีนี้ขยับแล้ว 28%

ราคาทองฟิวเจอร์พุ่งทุบสถิติใหม่ หลัง Spot gold พุ่งแตะ ATH 2,654.96 ดอลลาร์ รับความเสี่ยงตะวันออกกลางพุ่ง-เก็งเฟดรอบหน้า

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 5 ในวันอังคาร (24 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางซึ่งเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

  • สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 24.50 ดอลลาร์ หรือ 0.92% ปิดที่ 2,677.00 ดอลลาร์/ออนซ์
  • ด้านราคาทองสปอต (Spot gold) บวก 1.1% ไปอยู่ที่ 2,656.38 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อคืนนี้ หลังจากพุ่งไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,654.96 ดอลลาร์

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวลง 0.38% แตะระดับ 100.466 ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนตลาดทองคำ เนื่องจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาทองคำมีราคาที่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่นๆ

นอกจากนี้ นักลงทุนยังเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง

กองทัพอิสราเอลสามารถปลิดชีพอิบราฮิม มูฮัมหมัด กาบิซี ผู้บัญชาการกองกำลังจรวดและขีปนาวุธของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ รวมทั้งผู้บัญชาการทหารอีกหลายราย หลังจากใช้ปฏิบัติการทางอากาศโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนเมื่อวานนี้ ขณะที่ฝั่งเลบานอนเผยว่า จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 558 ราย และบาดเจ็บ 1,835 ราย สูงสุดนับตั้งแต่การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในปี 2549

รอยเตอร์สระบุว่า ราคาทองคำในปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแล้วถึง 28% ท่ามกลางความกังวลว่าสถานการณ์ที่ตึงเครียดในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน จะขยายวงกลายไปสู่สงครามเต็มรูปแบบ 

บ๊อบ ฮาเบอร์คอน นักกลยุทธอาวุโสบริษัทอาร์เจโอ ฟิวเจอร์ส กล่าวว่า ราคาทองกำลังพุ่งสูงขึ้นจากความกังวลเรื่องตะวันออกกลาง โดยกลัวว่าอิหร่านอาจจะลุกขึ้นตอบโต้หรือไม่ หลังจากที่สถานการณ์ระหว่างอิสราเอล-เลบานอนตึงเครียดมาพักใหญ่ 

ฮาเบอร์คอนกล่าวว่าเรื่องนี้คาดว่าจะทำให้ได้เห็น "ราคาทองคำทำนิวไฮต่อไปอีกสักพัก" โดยราคาอาจพุ่งขึ้นไปทะลุ 2,700 ดอลลาร์ อย่างเร็วที่สุดภายในสุดสัปดาห์นี้ หากสถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียดขึ้น และมีแรงเก็งกำไรธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะหั่นดอกเบี้ยรอบหน้าในเดือนพ.ย. มากขึ้น

ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)