2024 ปีทองของ ‘ทองคำ’ ขาขึ้นมากที่สุดในรอบ 14 ปี

2024 ปีทองของ ‘ทองคำ’ ขาขึ้นมากที่สุดในรอบ 14 ปี

2024 คือปีทองของ ‘ทองคำ’ ที่ทำราคาขาขึ้นมากที่สุดในรอบ 14 ปี บวกขึ้นกว่า 700 ดอลลาร์ ไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เหนือ 2,800 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนปีหน้า 2025 คาดราคาทองยังเป็นขาขึ้นต่อ แต่จะไม่ร้อนแรงเท่าปีนี้

แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐจะดูเป็นพระเอกของการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยได้แรงขับเคลื่อนหลักจากการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการได้โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ แต่หากมองภาพรวมตลอดทั้งปี 2567 จะพบว่า สินทรัพย์ที่หล่อเลี้ยงความมั่งคั่งมาตลอดตั้งแต่ต้นปีและโดดเด่นมากที่สุดตัวหนึ่งก็คือ “ทองคำ” ที่ทุบสถิติใหม่ไปหลายต่อหลายครั้งในปีนี้

ราคาทองสปอต (Spot Gold) เริ่มต้นปี 2567 ที่ระดับราคาประมาณ 2,062 ดอลลาร์ และค่อยๆ พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาส โดยทุบสถิติใหม่ของเดือนธ.ค. ปีที่แล้วที่ 2,135.39 ดอลลาร์/ออนซ์ มาได้ตั้งแต่เดือนมี.ค. เป็นต้นมา จนขึ้นไปทำนิวไฮใหม่เหนือ 2,800 ดอลลาร์/ออนซ์ ได้ในเดือนต.ค. ที่ผ่านมา

หากนับตั้งแต่ต้นปีนี้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นไปแล้วมากกว่า 700 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 27% ซึ่งเป็นการปรับราคาขึ้นรายปีที่ดีที่สุดในรอบ 14 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา

วอลสตรีทเจอร์นัลระบุว่าในปี 2567 นี้ ราคาทองทำสถิติสูงสุดตลอดกาลหรือ All-time high รอบใหม่ไปแล้วมากกว่า 40 ครั้ง โดยสถิติที่สูงที่สุดก็คือ 2,826.30 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อปลายเดือนต.ค.

ในขณะที่อุปสงค์ความต้องการทองคำทั่วโลกยังพุ่งทะลุ 1 แสนล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไปเมื่อไตรมาส 3 ก่อนที่ความร้อนแรงของทองคำจะชะลอตัวลงและเจอแรงเทขายหนักในช่วงเดือนพ.ย. เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้เงินไหลออกจากสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำไปสู่สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นและคริปโทเคอร์เรนซีแทน

2024 ปีทองของ ‘ทองคำ’ ขาขึ้นมากที่สุดในรอบ 14 ปี

แบงก์ชาติทั่วโลกหนุนทองคำพุ่งแรง

อานิสงส์ที่ดันให้ราคาทองคำปรับขึ้นอย่างเห็นได้ชัดที่สุดในปีนี้คือ แรงซื้อ “ทองคำสำรอง” เก็บเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก นำโดย “ธนาคารกลางจีน” (PBOC) ที่ทำสถิติตะลุยซื้อทองคำสำรองติดต่อกันทุกเดือนนานถึง 18 เดือนจนถึงเมษายนปีนี้ เฉพาะช่วง 2 เดือนแรกของปีแบงก์ชาติจีนก็ลุยซื้อทองไปแล้วถึง 22 ตัน โดยเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของจีนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงจาก “ดอลลาร์สหรัฐ”

ทว่านอกจากฝั่งภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนจีนเองก็ยังผลักดันการซื้อทองครั้งใหญ่เช่นกัน เนื่องจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในจีนที่รุมเร้ารอบด้าน วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ยังทรุดหนัก ตลาดหุ้นก็ซึมยาวมูลค่าตลาดหายไปเกือบ 5 ล้านล้านดอลลาร์ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนจีนหันไปหาสินทรัพย์อย่างทองคำที่ราคาขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยป้องกันความเสี่ยง จนอุปสงค์ทองคำในจีนแบบ Wholesale ในเดือนมกราคมพุ่งขึ้นสูงสุดทุบสถิติใหม่ที่ 271 ตัน

2024 ปีทองของ ‘ทองคำ’ ขาขึ้นมากที่สุดในรอบ 14 ปี

นอกจากจีนแล้ว ธนาคารกลางทั่วโลกยังเดินหน้าซื้อทองคำสำรองทำสถิติใหม่กันอีกหลายประเทศ แล้วแม้ว่ากระแสตุนทองคำสำรองจะเริ่มแผ่วลงในช่วงกลางปีเพราะราคาที่พุ่งขึ้นไปแรงมาก แต่ทิศทางของแบงก์ชาติทั่วโลกกลายแห่งยังคงซื้อมากกว่าขาย

แรงซื้อทองอย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นจนถึงช่วงไตรมาส 3 เมื่อสภาทองคำโลก (WGC) เปิดเผยว่าความต้องการทองคำทั่วโลกในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% ขึ้นไปทำสถิติใหม่ทะลุระดับ 1 แสนล้านดอลลาร์ ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โดยเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 1,313 ตัน หลังได้การลงทุนเพิ่มขึ้นจากฝั่งตะวันตก ซึ่งรวมถึงการลงทุนรายบุคคลของ “กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง” (HNW) เข้ามาช่วยชดเชยแทนแรงซื้อที่ลดลงจากฝั่งเอเชีย ในขณะที่แรงซื้อของบรรดากองทุน ETF ทองคำ ก็พลิกกลับมาเป็นซื้อสุทธิในไตรมาสนี้ หลังจากที่มีกระแสเงินไหลออกเป็นเวลานาน

2025 ทองยังขาขึ้น แต่จะโตน้อยกว่าปีนี้

สภาทองคำโลกคาดการณ์ใน รายงานแนวโน้มทองคำปี 2025 ว่า หากเศรษฐกิจเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ราคาทองคำน่าจะยังปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อ แต่จะเป็นการขึ้นในอัตราที่น้อยลงกว่าปีนี้

ราคาทองคำมีศักยภาพที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น หากแรงซื้อทองคำสำรองแข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้ หรือหากมีสถานการณ์เลวร้ายในตลาดการเงินจนดันให้แรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การกลับทิศของวัฎจักรการลดดอกเบี้ยอาจเป็ความท้าทาย

ตลาดคาดการณ์ว่าปีหน้า 2568 เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐลงประมาณ 1 จุดเปอร์เซนต์ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนราคาทองคำต่อ แต่รายงานของ WGC นี้ออกมาก่อนการประชุมเฟดครั้งสุดท้ายของปี ซึ่งในรายงานคาดการณ์ดอกเบี้ยของเฟด หรือ Dot Plot ลดคาดการณ์การลดดอกเบี้ยปีหน้าเหลือแค่ประมาณ 2 ครั้ง หรือราว 0.5% ทำให้แนวโน้มี้อาจมีผลใน “เชิงลบ” ต่อราคาทองกว่าที่คาดการณ์เอาไว้

ว่าที่ผู้นำสหรัฐคนใหม่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญต่อราคาทองในปีหน้า ท่ามกลางคำถามว่านโยบายของเขาจะส่งผลให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้ขนาดและขอบเขตของการผ่อนคลายนโยบายการเงินลดลง และเป็นปัจจัยลบต่อราคาทอง

ธนาคารกลาง ยังคงเป็นปัจจัยหลักในปีหน้า แม้ว่าแรงซื้อทองของแบงก์ชาติทั่วโลก ณ สิ้นปี 2567 มีแนวโน้มจะต่ำกว่าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ทำไว้ในปีนี้ แต่ก็ยังถือว่าเป็นระดับที่แข็งแกร่ง และในปีหน้า หากมีอุปสงค์จากแบงก์ชาติโลกเกิน 500 เมตริกตัน ซึ่งเป็นแนวโน้มระยะยาวโดยประมาณ ก็จะถือว่าเป็นระดับที่ส่งผลดีต่อราคาทอง

“ราคาทองคำขั้นสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยสำคัญ 4 ประการของทองคำ ได้แก่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความเสี่ยง ต้นทุนโอกาส และโมเมนตัม” รายงานระบุ

ทั้งนี้ บรรดาธนาคารพาณิชย์และธนาคารเพื่อการลงทุนขนาดใหญ่หลายแห่ง ยังคงเป้าหมายราคาทองของปีหน้าเอาไว้เท่าเดิม ยังไม่มีการปรับลดเป้าหมายราคาลงมา โดยส่วนใหญ่มองว่าราคาทองคำจะเป็นขาขึ้นวิ่งยาวถึงปีหน้า 2025 ซึ่งให้กรอบที่ประมาณ 2,700 - 3,000 ดอลลาร์/ออนซ์ จากปัจจัยที่ธนาคารกลางต่างๆ จะเดินหน้าลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมและจากการที่กองทุน ETF ทองคำเริ่มฟื้นตัวมีทุนไหลเข้าอย่างแข็งแกร่ง