MFC ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ‘โอกาสลงทุน’ ของไทยอยู่ตรงไหน

บลจ.เอ็มเอฟซี เผยมุมมองการลงทุน ทุกวิกฤติยังมีโอกาสเสมอ ประเทศไทยมีพื้นฐานแกร่งเหลือแค่เปลี่ยนผ่านเพื่อโต เตรียมเปิดฟังมุมมองต่างชาติที่มี 'ทักษิณ' เป็น Moderator
“วันนี้ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ อาจมีบทบาทมากกว่าทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างของ สหรัฐ รัสเซีย จีน หรืออะไรต่างๆ แต่ทุกยุคทุกสมัยก็มีทั้งความท้าทาย แล้วก็เป็นโอกาสของประเทศไทย ด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถปรับตัวได้ทุกครั้ง เพียงแต่ว่าช้าหรือเร็ว บางทีทําช้าไป บางทีก็เร็วเกินไปในบางเรื่อง แต่โดยภาพรวมแล้วเชื่อในการบาลานซ์รอบนี้”
“ณัฐกร อธิธนาวานิช” กรรมการ ประธานคณะกรรมการบริหาร กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน และกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “กรุงเทพธุรกิจ” และสื่อกลุ่มหนึ่งถึงโอกาสการลงทุนของไทยในโลกที่ผันผวน
เขาวิเคราะห์ว่า ความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ ไทยน่าจะอยู่ในสถานะที่เป็นประโยชน์ ที่เหลืออยู่ที่ฝั่งไทยเองที่ต้องปรับตัวแล้วแสวงหาโอกาสในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสไทยกับทางสหรัฐ ไทยกับจีน หรือแม้แต่กับรัสเซียเอง แล้วไทยยังมีโอกาสที่ดีกับทางฝั่งญี่ปุ่น รวมถึงฝั่งยุโรปด้วย แม้จะมีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็เชื่อว่าไม่มีอะไรที่จะแย่ไปเสมอไป
เพราะฉะนั้น เมื่อถึงจุดที่ทุกคนเห็นว่า “เป็นวิกฤติ” ก็จะมีโอกาสสําหรับคนกลุ่มใหม่เข้ามาเสมอ ในทุกครั้งที่มีสิ่งที่เราบอกว่ามันเป็นวิกฤติ มันไม่ได้เป็นวิกฤติของทุกคน แต่มันเป็นโอกาสของหลายคน เพราะฉะนั้นอยู่ที่ว่าเราจะจับถูกทางหรือไม่ ไทยเป็นประเทศที่ตัวเลขตลาดไม่ได้ใหญ่มาก เพราะฉะนั้นถือว่าอาศัยความเร็วเป็นความได้เปรียบ
“ผมมองว่าเป็นแบบนั้นไม่ได้มีอะไรเลวร้ายเสมอไปสําหรับทั้งประเทศไทยแล้วก็ตลาดโลก”
เน้นตลาดสหรัฐขาขึ้น-เอเชียยังมีโอกาส
บลจ.เอ็มเอฟซี เพิ่งเปิดขาย “กองทุน ยูเอส ทริกเกอร์ ซีรีส์ 2” จับจังหวะลงทุนหุ้นสหรัฐ คาดว่า EPS จะโต 12% ในปี 2568 และตั้งเป้าผลตอบแทน 5% ใน 5 เดือน สังเกตว่าการออกกองทริกเกอร์ฟันด์ หมายความว่า อาจเริ่มมีความเชื่อแล้วว่ามันเป็นไปได้ที่จะได้เป้าจํานวนหนึ่ง อาจไม่ได้เป็นเลขสองหลักตลอดเวลา แต่เป็นโอกาสในการทํากําไรเป็นช่วงๆ มากกว่าก็จะระมัดระวังมากขึ้นในตลาดสหรัฐ
ส่วน ตลาดฝั่งเอเชีย อาจต้องมองเป็นมุมพื้นฐาน ไม่เหมือนฝั่งสหรัฐที่เขาอาจทําการเปลี่ยนผ่านในประเทศเขาไปแล้ว ทำให้มีองค์ประกอบของบริษัทเทคโนโลยีที่มีบทบาทมากขึ้น แต่ฝั่งเอเชียอาจซึมๆ หน่อยเพราะพื้นฐานหลักของเรารวมถึงตลาดของไทย ยังเกาะกลุ่มอยู่ในธุรกิจ และอุตสาหกรรมรูปแบบเดิมอยู่
“แต่ใดๆ ก็ตาม โอกาสที่ธุรกิจดั้งเดิมจะสูญหายตายจากไปคงมีบ้าง แต่จะหายไปเลยจากชีวิตคนทั้งโลกคงเป็นไปไม่ได้ ผมเชื่อว่านักลงทุนจะปรับผลตอบแทนกับความเสี่ยงตัวเองตลอดเวลาอยู่แล้ว ก็จะสะท้อนระยะสั้นระยะยาวของเขาไป”
ไทยฐานแกร่ง เหลือแค่เปลี่ยนผ่านเพื่อเติบโต
ณัฐกร มองว่า "ตลาดไทยเป็นโอกาสอย่างที่พยายามจะพูดเสมอว่าเมื่อมีวิกฤติก็มีโอกาสด้วย มีคนขึ้นก็มีคนลง เพราะเป็น zero-sum game ในมุมส่วนตัวคิดว่า เป็นโอกาสดีที่บางบริษัท มูลค่าที่แท้จริงกับราคาไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันแล้วธุรกิจของไทยเป็นธุรกิจรูปแบบดั้งเดิมค่อนข้างเยอะ มูลค่าเองก็ไม่ได้ถูกให้คุณค่า แต่จริงๆ แล้วกระแสเงินสดหรือหลายอย่างอาจจะยังแข็งแรงดีอยู่ เหลือแค่การที่ต้องเข้าไปปรับปรับปรุง หรือเปลี่ยนผ่านอะไร ต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะถือโอกาสนี้มองหาแล้วเข้าไปปรับโครงสร้างตัวธุรกิจในหลายธุรกิจ
ทั้งนี้ เชื่อว่าของอะไรที่มันถูกจะมีคนเห็นคุณค่ากลุ่มหนึ่ง แล้วอาจเป็นการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้นด้วยซ้ำ แล้วพาเราเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจดั้งเดิมไปสู่ธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ส่วนตัวมองว่า โอกาสของตลาดไทยไม่ได้แย่ แต่ก็ต้องบอกว่ามันไม่ได้เป็นโอกาสสําหรับทุกบริษัท"
เปิดมุมมองโอกาสกับสัมมนา “The World's Next Opportunity and Beyond”
บลจ.เอ็มเอฟซี จะครบรอบ 50 ปีการก่อตั้ง ในฐานะเป็นบริษัทจัดการกองทุนรวมแห่งแรกของประเทศไทย หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าชื่อของ MFC ย่อมาจาก Mutual Fund Company พอมานั่งคิดดูว่าจะทำอะไรในโอกาสครบรอบ 50 ปี ท่ามกลางความไม่แน่นอนหลายอย่าง
จึงเกิดเป็นงาน “The World's Next Opportunity and Beyond” ซึ่ง MFC จัดขึ้นร่วมกับทางเนชั่น กรุ๊ป ในวันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2568 ณ ห้องเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 22 เพื่อชวนทุกคนกลับมาลองดูว่าโอกาสข้างหน้าจะเป็นอย่างไรบ้าง และเชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงแต่ละด้านเข้ามาให้มุมมองว่าทิศทางโลกข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ไทยจะอยู่ตรงไหนในเวทีข้างหน้า โอกาสของเราจะอยู่ตรงไหน
ถ้าดูจากสปีกเกอร์หลายคนที่ถูกเชิญมาในครั้งนี้ จะเห็นว่าแต่ละคนก็สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลง และมาจากเจเนอเรชันที่ต่างกัน เช่น “คริส แบรดลีย์” หุ้นส่วนอาวุโสจาก McKinsey & Company และผู้อำนวยการ McKinsey Global Institute (MGI) มาเป็น Keynote Speaker แบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับทิศทางของโลก และโอกาสทางธุรกิจในอนาคต
“อเล็กซ์ บลาเนีย” ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Tools for Humanity บริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างความเท่าเทียมในยุค AI ผ่านโครงการ World Network ที่เขาร่วมก่อตั้งกับ แซม อัลท์แมน คุณอเล็กซ์จะมีประสบการณ์ และมุมมองเฉพาะในด้านสินทรัพย์ดิจิทัล และคริปโทเคอร์เรนซี รวมถึงมุมมองทางด้านเอไอ
“แพทริค วาลูโจ” ประธาน และซีอีโอของ GoTo Group ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น Businessman of the Year จาก Forbes Indonesia ในปี 2021 และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Northstar Group มีประสบการณ์ตรงในอาเซียน
ขณะที่ “เอเลน อู๋” กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าฝ่ายการลงทุน และพอร์ตโฟลิโอโซลูชันประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของกองทุน BlackRock จะมาแบ่งปันมุมมองด้านการลงทุนอย่างยั่งยืน และโอกาสในตลาดเอเชีย
จับตา “ทักษิณ” ในบทบาท Moderator
ส่วนไฮไลต์ที่น่าจะไม่เคยมีใครทำมาก่อนก็คือ ทาง บลจ.เอ็มเอฟซี ได้รับเกียรติจากอดีตนายกรัฐมนตรี "ทักษิณ ชินวัตร" มาเป็น “ผู้ดำเนินรายการ” ในเวทีเสวนาครั้งนี้ด้วย
“ผู้ดำเนินรายการจะสกัดประเด็นสำคัญๆ แล้วมาดูว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นมุมมองการพูดคุยก็จะมีความเชื่อมโยงกับโลก และไทย ซึ่งเราคิดว่าคนที่ชวนคุยได้ควรจะมีความรู้ ความเข้าใจในประเทศไทย ไม่แค่ในบริบทของภาคธุรกิจอย่างเดียว แต่เข้าใจในมุมของประสบการณ์ที่มองเห็นโลกในแต่ละยุคมาแล้ว เข้าใจได้ว่าอะไรคือ จุดอ่อนจุดแข็งของประเทศ... บรรยากาศจะเหมือนเอาคน 3-4 คน มาคุยถึงประสบการณ์จริงของแต่ละคน น่าจะมีการแลกเปลี่ยนความเห็น และออกรสชาติพอสมควร รอติดตามได้” ณัฐกร กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์