Investment Strategy เศรษฐกิจไทยยังโตต่อได้ในเดือนกันยายนจากภาคบริการ

Investment Strategy เศรษฐกิจไทยยังโตต่อได้ในเดือนกันยายนจากภาคบริการ

โมเมนตัมเศรษฐกิจไทยแผ่วลงในเดือนกันยายนตามภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก โดยกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศที่ชะลอตัวลงฉุดภาคการผลิตในประเทศ และอุปสงค์การลงทุนใหม่ของภาคเอกชนเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ภาคบริการยังเป็นจุดแข็งที่โมเมนตัมการฟื้นตัวยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง และจะช่วยรองรับเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไป ในขณะเดียวกัน เงินเฟ้อก็ชะลอตัวลงตามอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่แผ่วลง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง ดังนั้น เราจึงไม่พบว่ามีแรงกดดันเพิ่มเติมต่อธนาคารแห่งประเทศไทยในการกำหนดนโยบายการเงินในช่วงนี้

 

ทั้งภาคการค้าและการผลิตเสียโมเมนตัมไป

ถึงแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกันยายนจะอ่อนแอลง แต่ภาวะเศรษฐกิจยังประคองตัวได้ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยการค้าโลกที่อ่อนแอลงฉุดให้การส่งออกของไทยลดลงเหลือ 4.9% (ไม่รวมทองคำ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม) ดังนั้น การผลิตในภาคอุตสาหกรรมจึงชะลอตัวลงอย่างมากมาอยู่ที่ 3.4% yoy จาก 14.9% ในเดือนที่แล้ว สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ลดลงจาก 65.4% เหลือ 63.8% โดยการชะลอตัวกระจายออกไปในอุตสาหกรรมต่าง ๆ  ยกเว้นยานยนต์ ซึ่งยอดผลิตรถยนต์นั่งโดยสาร (passenger car) ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งถึง 19.4% yoy ทั้งนี้ กิจกรรมการลงทุนของประเทศไทยได้รับผลกระทบทันที โดยอัตราการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัวลงเหลือ 7.7% yoy จาก 12% ในเดือนสิงหาคม

 

 

 

แต่ภาคบริการ และการบริโภคในประเทศยังคงฟื้นตัวได้ดีมาก

ตรงกันข้ามกับข้อมูลในฝั่งอุปทาน การบริโภคและภาคบริการของไทยยังแข็งแกร่งในเดือนกันยายน โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวถึง 11.3% yoy จากภาคบริการที่แข็งแกร่งขึ้น และการจับจ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทน  ทั้งนี้ กิจกรรมโดยรวมในภาคบริการยังคงต่ำกว่าระดับก่อน COVID ระบาด ดังนั้น จึงยังมีโอกาสให้ฟื้นตัวได้อีกมาก

 

ตลาดงาน และความมั่นใจยังแข็งแกร่ง

ถือเป็นเรื่องดีที่ภาวะตลาดงานในประเทศไทยยังคงแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปอีก ในขณะที่ยอดขอรับสวัสดิการว่างงานทั้งข้อมูลแบบ stock และ flow ต่างก็ลดลงมาจากจุดสูงสุดในช่วงที่ COVID-19 ระบาด ส่วนจำนวนผู้จ่ายเงินสมทบประกันสังคมเพิ่มขึ้น ดังนั้น ความเชื่อมั่นของผู้บรโภคโดยรวม ทั้งในปัจจุบัน และเมื่อมองไปในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้าจึงขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

 

เงินเฟ้อน่าจะเป็นไปตามที่ตลาดคาดเอาไว้

ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญตัวถัดไปที่จะประกาศออกมาคือตัวเลขเงินเฟ้อเดือนตุลาคมในวันที่ 4 พฤศจิกายน ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวในระดับปานกลาง และราคาน้ำมันก็ทรงตัวในเดือนตุลาคม ดังนั้นจึงไม่น่ามีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะออกมาสูงเกินคาด  โดย Consensus คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 6% yoy (จาก 6.4%) แต่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเร่งตัวขึ้นเป็น 3.20% yoy จาก 3.12%