MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 21-25 พฤศจิกายน 2565
เงินบาทแกว่งตัวผันผวน ขณะที่หุ้นไทยปิดใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อน
• เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างผันผวน โดยอ่อนค่าลงช่วงแรกตามเงินหยวนจากความกังวลโควิดในจีน ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ จากแนวโน้มเฟดชะลอขนาดการขึ้นดอกเบี้ย
• SET Index เคลื่อนไหวกรอบแคบเกือบตลอดสัปดาห์ ก่อนจะย่อตัวลงช่วงปลายสัปดาห์ หลังไร้ปัจจัยใหม่หนุน ประกอบกับตลาดเริ่มกลับมากังวลสถานการณ์โควิด
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่ผันผวน ระหว่างวันที่ 21-25 พ.ย. โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ (แม้ว่าจีดีพีไตรมาส 3/65 ของไทยจะออกมาดีกว่าที่คาด) ตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลกและการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย นำโดย เงินหยวน ซึ่งเผชิญแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและมาตรการสกัดการระบาดของโควิดในจีน นอกจากนี้ แรงขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติก็เป็นปัจจัยลบของค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกแข็งค่าผ่านแนว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้อีกครั้ง เนื่องจากบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 1-2 พ.ย. ตอกย้ำโอกาสที่เฟดจะชะลอขนาดการขึ้นดอกเบี้ยนในเดือนธ.ค. นี้
กรอบการแข็งค่าของเงินบาทจำกัดลงอีกครั้ง โดยเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ตามค่าเงินหยวน หลังจากที่ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจ ขณะที่ตลาดรอติดตามสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินจากที่ประชุมกนง. รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วงปลายเดือนพ.ย.
ในวันศุกร์ที่ 25 พ.ย. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (18 พ.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 21-25 พ.ย. 2565 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 5,388 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตร 11,666 ล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิพันธบัตร 8,775 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 2,891 ล้านบาท
สัปดาห์ถัดไป (28 พ.ย.-2 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 35.25-36.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของประธานเฟด ผลการประชุมกนง. รายงานเศรษฐกิจการเงินและข้อมูลการส่งออกของไทยเดือนต.ค. ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิต ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนพ.ย. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนต.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/65 (prelim.) และรายงาน Beige Book ของเฟด นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิต/บริการเดือนพ.ย. ของจีน ทิศทางสกุลเงินเอเชียและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ตลาดหุ้นไทยปิดใกล้เคียงกับระดับปิดสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ SET Index แกว่งตัวในกรอบแคบช่วงต้นสัปดาห์ แม้จะมีปัจจัยหนุนจากตัวเลขจีดีพีไทยไตรมาส 3/65 ที่ออกมาดีกว่าตลาดคาด เนื่องจากเผชิญแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานตามทิศทางราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลงและหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หลังมีข่าวยกเลิกการทำ Tender offer ของบริษัทสื่อสาร อย่างไรก็ดี หุ้นไทยปรับตัวขึ้นช่วงกลางสัปดาห์ ตามแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงานหลังโอเปกปฏิเสธข่าวลือเกี่ยวกับการเพิ่มกำลังการผลิต ก่อนจะย่อตัวลงอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากขาดปัจจัยใหม่เข้ามาสนับสนุน ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่พุ่งขึ้นกระตุ้นความกังวลต่อสถานการณ์โควิด
ในวันศุกร์ (25 พ.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,620.84 จุด เพิ่มขึ้น 0.21% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 51,425.24 ล้านบาท ลดลง 15.33% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.04% มาปิดที่ระดับ 582.43 จุด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (28 พ.ย. -2 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,600 และ 1,580 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,640 และ 1,660 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (30 พ.ย.) รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/65 ดัชนี PCE/Core PCE Price Index รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนต.ค. ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิต เดือนพ.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. (เบื้องต้น) และดัชนีราคาผู้ผลิตดือนต.ค.ของยูโรโซน ดัชนี PMI ภาคการผลิต เดือนพ.ย.ของจีนและญี่ปุ่น รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น