KBANK - ฟื้นตัวแกร่งหลังผลประกอบการอ่อนแอ
ผู้บริหารตั้งเป้าหมายทางการเงินปี 2023 แบบอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะในส่วนของ NIM ขณะที่ถึงแม้ว่า credit cost จะยังคงอยู่ในระดับสูง แต่ก็ยังดีว่ามีแนวโน้มจะทยอยลดลง
ทั้งนี้ จาก upside ของราคาหุ้น และแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของกำไรหลังจากฐานที่ต่ำของผลการดำเนินงานในปีที่แล้ว เราคงคำแนะนำ ซื้อ KBANK โดยประเมินราคาเป้าหมายที่ 180 บาท
ตั้งเป้าหมายทางการเงินแบบอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะ NIM
ผู้บริหารประกาศเป้าหมายทางการเงินปี FY23 โดยตั้งเป้าขยายพอร์ตสินเชื่อปีนี้เอาไว้ที่ 5-7% โดยมอง NIM จะเพิ่มขึ้นเพียง 0-15bps จาก 3.30% ในปีที่แล้ว เป็น 3.30-3.45% ในขณะที่เป้าหมายอื่น ๆ ซึ่งได้แก่ รายได้จากค่าธรรมเนียมสุทธิ, สัดส่วน C/I และ NPL มองค่อนข้างทรงตัว โดยธนาคารคาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิจะใกล้เคียงปีก่อนหน้าเพราะการฟื้นตัวของธุรกิจ wealth อาจจะถูกหักล้างไปกับรายได้ค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมแบบดั้งเดิมที่ลดลงจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ธนาคารตั้งเป้าสัดส่วนต้นทุนต่อรายได้ไว้ในช่วง 40-45% จาก 43% เมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่จะยังคงใช้กลยุทธ์การจัดการ NPL เชิงรุกต่อไป แต่คาดว่าสัดส่วน NPL เพิ่มขึ้นไม่เกิน 3.25% เทียบจาก 3.19% ปีก่อน
Credit cost ในปีนี้จะลดลง แต่จะยังอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ผู้บริหารชี้แจ้งว่าการตั้งสำรอง ECL ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากใน 4Q22 เป็นเพราะ 1) สินเชื่อเก่าที่มีปัญหา (legacy loan) ตั้งแต่ก่อน COVID-19 ระบาด, 2) ลูกค้ากลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาด และ 3) NPLs ใหม่จากการปล่อยกู้วงเงินต่ำสำหรับกลุ่มรายย่อยในปี 2022 อย่างไรก็ดี ผู้บริหารเชื่อว่า credit cost น่าจะผ่านจุด peak ของรอบนี้ไปแล้วในปี 2022 ที่ 211bps และจะทยอยขยับลดลงมาอยู่ที่ 175-200bps ในปี 2023 ซึ่งแม้จะต่ำกว่าในปี 2022 แต่เรามองว่ายังเป็นระดับที่สูง โดยในที่ประชุมดูเหมือนว่านักลงทุนบางส่วนมีความกังวลว่าทำไม่ผู้บริหารถึงไม่ใช้กลยุทธ์จัดการ NPL เชิงรุกแบบครั้งเดียวให้จบไปเลยตั้งแต่ปีที่แล้วหรือให้จบภายในปีนี้
เป้า NIM ที่ต่ำสวนทางกับประมาณการ GDP และคาดการณ์ดอกเบี้ย
จาก upside ของราคาหุ้น และแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของกำไรจากฐานที่ต่ำของผลการดำเนินงานในปีที่แล้ว เราจึงยังคงคำแนะนำซื้อ KBANK โดยประเมินราคาเป้าหมายที่ 180 บาท บน PB 0.7x ที่ ROE 7% ทั้งนี้ เป้าหมายทางการเงินปี 2023 ส่วนใหญ่ที่ผู้บริหารประกาศออกมาใกล้เคียงกับที่เราคาด ยกเว้น NIM ที่เรามองว่าอนุรักษ์นิยมมากเกินไป เพราะ NIM ทำได้ที่ 3.62% ใน 4Q22 แล้ว การที่ธนาคารตั้งเป้า NIM ไว้ที่ 3.30-3.45% หมายความว่าผู้บริหารคาดว่า NIM จะลดลงจาก 4Q22 โดยผู้บริหารบอกว่าตั้งเป้า NIM ไว้แบบอนุรักษ์นิยมเพราะความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ ธนาคารยังมองลบกับแนวโน้มเงินฝากรายย่อย ซึ่งอาจจะทำให้ธนาคารต้องขึ้นดอกเบี้ยบัญชี CASA ด้วย เรามองว่าเป้า NIM และความกลัวภาวะเศรษฐกิจถดถอยสวนทางกับประมาณการอัตราการขยายตัวของ GDP ที่ KBANK ประเมินไว้ถึง 3.7% ส่วนในกรณีของ K-Asset ผู้บริหารปฏิเสธข่าวว่ามีการบรรลุข้อตกลงในการขาย K-Asset อย่างไรก็ดีเปิดกว้างในการมองหาทางเลือกและโอกาสใหม่ ๆ โดยผู้บริหารตั้งเป้าจะเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และเสริมสร้างผลการดำเนินงานของ K-Asset อย่างเช่นการขยายตลาดเข้าไปในภูมิภาค AEC ซึ่งการผนึกพันมิตรเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้