วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (2 มี.ค. 66)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (2 มี.ค. 66)

ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น หลังการรายงานตัวเลขภาคการผลิตในจีนปรับสูงขึ้น

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา 

+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังรายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในเดือน ก.พ. 66 พบว่าภาคการผลิตอยู่ที่ระดับ 52.6 สูงกว่าในเดือน ม.ค. 66 ที่ระดับ 50.1 นับเป็นการขยายตัวในอัตราที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 55 โดยเป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้นหลังจากรัฐบาลจีนยกเลิกนโยบาย Zero-COVID

- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 24 ก.พ. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.17 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์ของรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นราว 0.46 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 480 ล้านบาร์เรล  โดยนับเป็นปริมาณสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 64 

- ราคาน้ำมันยังได้รับแรงกดดันหลังตัวเลขการผลิตน้ำมันจากทางรัสเซียเพิ่มสูงขึ้นในเดือน ก.พ. 66 แตะระดับ 1.51 ล้านตันต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณการผลิตที่เทียบเท่าก่อนถูกการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก นอกจากนี้ ตลาดยังกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานที่อาจล้นตลาดหลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศโอเปค (OPEC) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน ก.พ. 66 เช่นเดียวกัน

 

 


 

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังการส่งออกน้ำมันเบนซินของจีนมีแนวโน้มลดลง จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินของจีนจะลดลงเหลือ 3 แสนตันในเดือน มี.ค. จากการคาดการณ์การส่งออกในเดือน ก.พ. ที่อยู่ในระดับ 3.5-5 แสนตัน


ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังโรงกลั่นในไต้หวันได้เริ่มหยุดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในวันที่ 10 เม.ย. ทั้งนี้ โรงกลั่นฯ มีกำลังการกลั่นอยู่ที่ 5.4 แสนบาร์เรลต่อวัน
 

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (2 มี.ค. 66)