วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (11 พ.ค. 66)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (11 พ.ค. 66)

ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ขณะที่สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสวนคาด

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา 

- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เทกซัสปรับลด หลังได้รับการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ (CPI) ปรับเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 0.4 ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่อยู่อาศัย และรถยนต์มือสองที่พุ่งสูงขึ้น แสดงถึงอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงแข็งแกร่ง ทั้งนี้เป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นร้อยละ 4.9 ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งลดลงจากระดับร้อยละ 5.0 ในเดือนมี.ค.

- ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนเดือนเม.ย. 66 ปรับลดลงสู่ 42.41 ล้านตัน หรือ 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 66 และปรับลดลงร้อยละ 1.45 เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย 65 โดยเป็นผลมาจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่ยังสูง รวมทั้งเป็นช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นประจำปี 

- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 5 พ.ค. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3.0 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 462.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 9 แสนบาร์เรล

 

 

 


 

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในอินเดียยังคงได้รับแรงหนุนในช่วงฤดูกาลขับขี่ ถึงแม้จะมีสภาพอากาศที่ร้อนจัดและฝนตกในบางที่อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในอินโดนีเซียและมาเลเซียมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังผ่านช่วงเทศกาลวันอีด

 

ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปสงค์ในอินเดียปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังโรงกลั่นในเวียดนามที่ปรับเพิ่มกำลังการผลิต

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (11 พ.ค. 66)