ตลาดอาจมีแรงทำกำไรสลับ แต่โมเมนตัมหุ้นรายตัวยังบวก
การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยจำกัดความเคลื่อนไหวในภาพรวม ค่าเงินสหรัฐฯ แข็งค่าจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่
1) การเจรจาเรื่องเพดานหนี้ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป หลังประธานาธิบดีไบเดนบอกปัดข้อเรียกร้องของนายแมคคาร์ธีที่ต้องการให้ปรับลดงบประมาณรายจ่าย ขณะที่นายแมคคาร์ธีก็ปฏิเสธข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีไบเดนที่ต้องการให้มีการเพิ่มรายได้ของรัฐบาลด้วยการปรับเพิ่มภาษีที่เรียกเก็บจากคนร่ำรวย 2) ฟิทช์เรตติ้ง อาจปรับลดอันดับเครดิตของตราสารหนี้สหรัฐ หากมีการผิดนัดชำระหนี้ 3) ความเห็นกรรมการเฟด นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ และนายนีล แคชแครี ประธานเฟดสาขามินเนอาโพลิส สนับสนุนให้คณะกรรมการเฟดเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทำให้ตลาดจะรอดูตัวเลขเงินเฟ้อ และผลการประชุมเฟดรอบ 14 มิ.ย.
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่กว้างทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า บวกต่อกลุ่มส่งออกอาหารและเกษตร อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.75% ต่ำที่สุดในอาเซียน (มาเลเซียอยู่ที่ 2.75%) ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ-ไทย อยู่ที่ 3.5% ขณะที่อินโดนีเซียมีดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.75% สูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ส่งผลให้ทิศทางเงินทุนโดยเฉพาะในตราสารหนี้ ยังเผชิญความเสี่ยงมีโอกาสไหลออกต่อเนื่อง ปัจจัยดังกล่าวส่งผลค่าเงินบาทและริงกิต อ่อนค่ามากกว่ารูเปียห์ ทั้งนี้ในภาวะที่การส่งออกที่ 70-80% เป็นสินค้าอุตสาหกรรม ยังอยุ่ในทิศทางชะลอตัว ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการส่งออกในรอบนี้ จะอยู่ในกลุ่มที่เกี่ยวกับอาหารและสินค้าเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวกับเนื้อไก่ ที่ได้ปัจจัยหนุนจากข่าวบราซิลประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในสัตว์ปีก 180 วัน ขณะที่กลุ่มไฟฟ้า ผลประกอบการไตรมาส 2/65 แม้จะได้อานิสงค์จากผลประกอบการที่เข้าสู่ high season แต่ต้องระวังการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนในหุ้นใหญ่ที่หุ้นที่ไปลงทุนต่างประเทศ ทำให้กลถ่มนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีรายได้จากค่าไฟเพียงในประเทศ อาจปลอดภัยกว่าหากจะถือถึงงบออก
ภาพรวมกลยุทธ์: เรามองเป็นโอกาส selective buy เน้นกลุ่มที่น่าจะเห็นการฟื้นตัวได้ชัดเจนในปี 2566 และยังมีการถือครองที่ต่ำ (Underowned) ระวังความผันผวนของหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจ // กลุ่มค้าปลีกและท่องเที่ยว ไม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นการเมือง ขณะที่สื่อสารและไฟฟ้า มีโอกาสฟื้นตัว หลังตอบรับปัจจัยลบระยะสั้นมากไป บาทอ่อนรอบนี้บวกกับกลุ่มส่งออกอาหารและเกษตร
หุ้นแนะนำ: MAJOR*, AAV*, GFPT*, TU*
แนวรับ: 1,530 / แนวต้าน : 1,548-1,560 จุด
สัดส่วนลงทุน: เงินสด 40% vs พอร์ตหุ้น 60%
ประเด็นการลงทุนที่น่าสนใจ
ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับเพิ่ม 1.43 เหรียญฯ – จากสต็อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่ลดลง12.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลด 500,000 บาร์เรล
STARK เทรด 1 มิ.ย. - ตลท. จะปลดเครื่องหมายห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว (SP) ในวันที่ 1 มิ.ย.66 เพื่อเปิดให้มีการซื้อขายหุ้น STARK เป็นระยะเวลา 1 เดือนในระหว่างวันที่ 1-30 มิ.ย.66 บริษัทคาดว่าจะเปิดเผยข้อมูลทางบัญชีเบื้องต้นแก่นักลงได้ภายในวันที่ 16 มิ.ย.66
บราซิลประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพสัตว์เป็นเวลา 6 เดือน – หลังเจอไข้หวัดนกสายพันธ์ H5N1 โดย GFPT เผยว่าขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบกับบริษัท แต่ยังต้องรอดูท่าทีของประเทศคู่ค้าก่อน หากมีความกังวลเกี่ยวกับการนำเข้าไก่จากบราซิล อาจส่งผลกระทบกับบริษัทได้
ประเด็นติดตาม: 25 พ.ค . – US GDP, Initial Jobless Claims, Pending Home Sales / 26 พ.ค. – US Core Durable Goods Orders, Core PCE /30 พ.ค. - US CB Consumer Confidence
(* หมายถึง หุ้นทางกลยุทธ์ ซึ่งอาจมีคำแนะนำต่างกับพื้นฐาน หรือที่ไม่ได้อยู่ในการวิเคราะห์ของ UOBKH ซึ่งนักลงทุนควรพิจารณาตั้งจุดตัดขาดทุน 3-5% ของราคาที่เข้าซื้อ)