วิเคราะห์หุ้นรายตัว : บล.เคจีไอฯ HL สิ้นสุดยุคร้านยาหมอตี๋! เริ่มยุคใหม่ของ Chain-drugstores
ประเมินร้านขายยารูปแบบ Chain-drugstore จะกินส่วนแบ่งตลาดร้านขายยาประเภท Standalone (ธุรกิจ SME) มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความได้เปรียบเรื่องของฐานเงินทุน
ยกตัวอย่างช่น การขยายสาขาจำนวนมากในพื้นที่ชุมชนต่างๆ จะทำให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น และเพิ่มอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตยา รวมทั้งผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ นอกจากนี้การที่จำนวนสาขาในรูปแบบ Chain-drugstore เพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุน Logistic (การขนส่งและการจัดเก็บ) มีประสิทธิภาพมากขึ้นและทำให้ต้นทุนลดลง
นอกจากนี้ จุดเปลี่ยนที่สำคัญ ที่จะทำให้ร้านขายยาแบบ Standalone แข่งขันได้ยากขึ้น คือการประกาศใช้หลักวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรชุมชน (Good Pharmacy Practice: GPP) ซึ่งเป็นกฏหมายภายใต้กฏกระทรวงฯ ตั้งแต่ มิ.ย.2557 (เริ่มใช้เป็น Phase ที่ 1 ยังมีการผ่อนผันให้ปรับตัวได้) และเริ่มบังคับใช้แบบเข้มงวดตั้งแต่ มิ.ย.2565 ซึ่งกฏระเบียบ GPP นี่เองจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อร้านขายยา Standalone เป็นอย่างมาก อาทิเช่น การกำหนดขนาดพื้นที่ร้านขายยา การกำหนดขนาดพื้นที่ให้บริการโดยเภสัชกร การกำหนดให้ร้านขายยาต้องมีเภสัชกรที่มีใบประกอบวิชาชีพตลอดเวลา การกำหนดให้เข้าสู่ระบบภาษีสรรพากร เป็นต้น ดังนั้น เราประเมินการขยายสาขาเชิงรุกของร้านขายยา Chain-drugstore ของ HL ภายใต้ชื่อแบรนด์ iCare และ Pharmax จะ Aggressive มากขึ้นในช่วง 1 – 3 ปีข้างหน้า ขณะที่ร้านขายยา Standalone จะ
ลดจำนวนลง โดยเรากำหนดสมมติฐานการเปิดสาขาใหม่ปีละ 15 แห่ง ตั้งแต่ปี 2566 – 2569 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 27% CAGR (2565 - 69)
ผ่านจุดเลวร้าย เริ่มกลยุทธ์ใหม่เดินหน้าฟื้นตั้งแต่ 2Q66
ราคาหุ้น HL ปรับลดลงกว่า -45% YTD จากการรายงานผลการดำเนินงานที่อ่อนแอใน 1Q66 โดยกำไรลดลง -58% YoY, -62% QoQ จาก 2 ปัจจัยลบ ได้แก่ i) การลดลงของยอดขายสินค้าอุปกรณ์การแพทย์ โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ Covid-19 และ ii) การใช้กลยุทธ์ด้านราคาที่ผิดพลาด โดยทางผู้ผลิตยาได้ทำการปรับขึ้นราคายาตั้งแต่ต้นปี 2566 แต่ทาง HL กลับเลือกใช้กลยุทธ์ด้านราคา ตรึงราคาขายปลีกหน้าร้านไว้ เพื่อหวังแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด แต่กลับให้ผลสุทธิที่เป็นลบ อัตรากำไรขั้นต้นลดลงเหลือ 21.5% จาก 23.9% ใน1Q65 อย่างไรก็ดีจากการ Company visit ล่าสุด HL ไม่ได้ใช้กลยุทธด้านราคาแล้วตั้งแต่ มี.ค.66 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของอัตรากำไร เราคาดกำไร 2Q66 จะฟื้นตัวเป็น 21 ล้านบาท (+67% QoQ แต่ยังลดลง -7% YoY)
เดินหน้าแผน ทลายกำแพงกฏ 80/20 หนุนโอกาสโต
พื้นที่ให้บริการโดยเภสัชกร ซึ่งเป็นพื้นที่ให้บริการขายยาในร้านขายยาของ HL คิดเป็นพื้นที่เพียงราว 20 – 30% ของร้าน แต่สร้างรายได้ราว +/-70% ของรายได้รวม ขณะที่พื้นที่อีก 70 – 80% ใช้เป็นพื้นที่วางขายสินค้าอุปกรณ์การแพทย์ และสินค้าเพื่อสุขภาพอื่นๆ แต่สร้างรายได้เพียงราว +/-30% ของรายได้รวม ซึ่งเราประเมินว่ามีโอกาสที่ทาง HL จะปรับแผนทางการตลาดเพื่อหาทางสร้างรายได้จากพื้นที่ส่วนนี้เพิ่ม โดยผู้บริหารเผยทางเจ้าของผลิตภัณฑ์พร้อมที่จะสนับสนุนงบส่งเสริมการขายในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ยอดขายโดยรวมของ HL เพิ่มขึ้น โดยที่ไม่กระทบต่อรายจ่าย SG&A ซึ่งหาทำได้ตามเป้าหมาย จะเป็น Upside ต่อประมาณการฯ
เป็นหุ้นที่มี “เงินสด” พร้อมโต แนะนำ “ซื้อ” เป้าพื้นฐาน 18.0 บาท
ประเมินราคาเหมาะสมหุ้น HL ได้เท่ากับ 18.0 บาท อิงวิธี DCF โดยกำหนดสมมติฐาน WACC 8.8% terminal growth 3% ณ ราคาเหมาะสมที่เราประเมินได้ Forward PE (อิง EPS ปี 2567) จะคิดเป็นราว 40 เท่า (เท่ากับ -1.7 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในอดีต) ทั้งนี้ 1Q66 HL มีเงินสดในมือ 100 ล้านบาท และเงินลงทุนระยะสั้นในกองทุนรวมและหุ้นกู้ราว 550 ล้านบาท ทำให้เราประเมินมี Upside ที่ HL จะนำเงินสดดังกล่าวไปใช้ลงทุนขยายกิจการเพิ่มเติมทั้งในรูปแบบ Organic (ขยายสาขา) + Inorganic (ซื้อกิจการต่อยอดธุรกิจ)