วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (31 ส.ค. 66)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (31 ส.ค. 66)

ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลงกว่าคาด

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา

+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส และเบรนท์ปรับเพิ่ม หลังสหรัฐฯ เผยสต็อกน้ำมันดิบปรับลดลงมากกว่าที่คาด โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 25 ส.ค. 66 ปรับตัวลดลง 10.6 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 422.9 ล้านบาร์เรล โดยปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.3 ล้านบาร์เรล

+ รัฐบาลของประเทศกาบองถูกทหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 66 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบของประเทศ และทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกตึงตัวมากขึ้น โดยในช่วงเดือน พ.ค. - ก.ค. 66 ที่ผ่านมา กาบองได้ส่งออกน้ำมันดิบไปยังภูมิภาคเอเชียเฉลี่ยที่ 160,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม บริษัทน้ำมันหลักของประเทศกล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวไม่กระทบกับการผลิตมากนัก

+ ตำแหน่งงานว่างของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความต้องการแรงงาน ปรับลดลง 338,000 ตำแหน่ง เหลือ 8.8 ล้านตำแหน่ง ในเดือน ก.ค. 66 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 64 และปรับลดมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะมีตำแหน่งงานว่างที่ 9.5 ล้านตำแหน่ง ซึ่งอาจลดโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

+ นักลงทุนจับตาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากพายุเฮอร์ริเคนอิดาเลีย ซึ่งทวีความรุนแรงเป็นพายุระดับที่ 3 โดยได้เคลื่อนตัวเข้าสู่เขตกัลฟ์โคสต์ของรัฐฟลอริดา ในช่วงเช้าของวันที่ 30 ส.ค. 66 

 

 


 

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังจีนมีแนวโน้มส่งออกน้ำมันเบนซินสูงขึ้น โดยจีนคาดว่าจะส่งออกน้ำมันเบนซินประมาณ 1 ล้านตันหรือมากกว่า ในเดือน ก.ย. 66 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณการของเดือน ส.ค. ที่ 0.8- 1 ล้านตัน ขณะที่การส่งออกน้ำมันเบนซินของเกาหลีใต้อาจลดลง เนื่องจากมีการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซิน


ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังจีนมีแนวโน้มส่งออกน้ำมันดีเซลสูงขึ้น โดยจีนคาดว่าจะส่งออกน้ำมันดีเซลประมาณ 1.1 ล้านตัน ในเดือน ก.ย. 66 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณการของเดือน ส.ค. 66 ที่ 0.6 ล้านตัน ขณะที่อุปสงค์น้ำมันดีเซลในภูมิภาคอยู่ในระดับคงที่ 

 


 

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (31 ส.ค. 66)