เวสต์เทกซัส 82.46 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เบรนท์ 86.85 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (3 พ.ย. 66) ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม ขานรับ FED คงอัตราดอกเบี้ย
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคาน้ำมัน
+ ราคาน้ำมันดิบ ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2% ตามสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา และตลาดคาดจากถ้อยแถลงของประธาน FED ว่าอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้สิ้นสุดแล้ว ส่งผลให้มีแรงซื้อกลับเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง
+ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25% ในการประชุมวานนี้ ซึ่งนับเป็นการคงอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งติดต่อกัน สอดคล้องกับ FED
+ ตลาดยังคงจับตาสถานการณ์ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงและอาจจะประทุขึ้น โดยล่าสุดเกิดความรุนแรงขึ้นอีกครั้งในพื้นที่ฉนวนกาซา หลังอิสราเอลเข้าจู่โจมกลุ่มฮามาสทางภาคพื้นดิน
+ ซาอุดิอาระเบียคาดจะประกาศคงนโยบายในการปรับลดกำลังการผลิตส่วนเพิ่มที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นปีนี้ สำหรับการปรับลดในปีหน้าคาดจะมีการพูดคุยกันอีกครั้งในการประชุมโอเปคปลายเดือนนี้
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ตามตลาดน้ำมันเบนซินสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากการส่งออกไปยุโรปที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากอินเดีย เกาหลี และเวียดนาม รวมถึง ปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์