Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 5 February 2024

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 5 February 2024

ราคาน้ำมันดิบยังคงเคลื่อนไหวระดับสูง หลัง IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 67 ท่ามกลางความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มตึงเครียดมากขึ้น

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 68-78 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 73-83 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 5 February 2024

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (5 - 9 ก.พ. 67) 

ราคาน้ำมันดิบยังคงเคลื่อนไหวระดับสูงเนื่องจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 ขณะที่ตัวเลขจีดีพีของยุโรปดีกว่าคาดการณ์ ส่งผลให้เศรษฐกิจของยุโรปสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ นอกจากนี้ ตลาดยังคงได้รับแรงสนับหนุนจากความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มตึงเครียดมากขึ้น ภายหลังสัปดาห์ที่ผ่านมามีทหารอเมริกันเสียชีวิตเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ความขัดแย้งในตะวันออกลางเริ่มต้นขึ้นในเดือน ต.ค. 66 ด้านอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวเพิ่มขึ้น ภายหลังสหรัฐฯ อาจจะกลับมาคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงกดดันจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เมื่อวันที่ 30-31 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการยังคงมองว่าการปรับลดดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นเมื่ออัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย

 

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

-  รายงานฉบับล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในเดือน ม.ค. 67 ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 ขึ้นจากระดับ 2.9% มาอยู่ที่ระดับ 3.1% หลังตัวเลขที่สำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างจีดีพีในไตรมาสที่ 4/66 เติบโตที่ระดับ 3.3% สูงกว่าที่นักเวิคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2% ประกอบกับธนาคารกลางของจีน (PBOC) ยังคงเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ประกาศลดอัตราการกันสำรองเงินฝากของธนาคารในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม IMF คาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจยังในปี 2567 นี้ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ในหลายภูมิภาค อาทิ ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน 

-  ตัวเลขจีดีพี (GDP) ของสหภาพยุโรปในไตรมาสที่ 4/66 อยู่ที่ระดับ 0.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะหดตัวที่ระดับ -0.1% ส่งผลให้เศรษฐกิจของเขตยูโรโซนสามารถหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ เนื่องจากการเติบโตในไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ -0.1% อย่างไรก็ตาม เยอรมนี ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 1 ของกลุ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ไตรมาส 1/64 หลังตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 4/66 หดตัวที่ระดับ -0.2% ซึ่งเป็นการติดลบสองไตรมาสติดต่อกัน หลังไตรมาสก่อนหน้าหดตัวที่ระดับ -0.3%
 

 

- ตลาดยังคงจับตาสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มตึงเครียดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังฐานทัพของสหรัฐฯ ในจอร์แดน ถูกโจมตีและส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 รายและบาดเจ็บกว่า 34 ราย การโจมตีดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่มีทหารอเมริกันเสียชีวิตนับตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอลเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นเดือน ต.ค. 66 ส่งผลให้ตลาดจับตาอย่างใกล้ชิดว่าสหรัฐฯ จะมีมาตรการตอบโต้ต่ออิหร่านอย่างไรต่อเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ซึ่งหากเกิดการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออุปทานน้ำมันดิบภายในภูมิภาค 

-  อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวขึ้น ภายหลังศาลสูงของเวเนซุเอลามีคำพิพากษาตัดสิทธิ์ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่มาจากฝ่ายค้าน ซึ่งคำสั่งดังกล่าวขัดกับข้อตกลงซึ่งทำไว้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลให้สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่อาจจะกลับมาคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นการชั่วคราวตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 - เม.ย. 2567

-  การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 30 – 31 ธ.ค. ที่ผ่านมา FED ยังคงมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25 – 5.50% แต่ถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด บ่งชี้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่ออัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับเป้าหมายที่ระดับ 2% โดยล่าสุดตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. 67 ยังคงอยู่ที่ระดับ 3.4% สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 3.2% และเร่งตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 3.2% ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงย่อมส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน

-  เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีผู้จัดฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 67, ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนเดือน ม.ค. 67 ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตและตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหภาพยุโรปเดือน ธ.ค. 66 ได้แก่ ดัชนียอดค้าปลีก และดัชนีราคาผู้ผลิต

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (29 ม.ค.- 2 ก.พ. 67)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 5.73 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 72.28 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 6.22 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 77.33 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 78.80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังดัชนีภาคการผลิตของจีนในเดือน ม.ค. 67 ปรับตัวลดลง ซึ่งลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของจีนในเดือน ม.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 49.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 49 ในเดือน ธ.ค. 66 แต่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นการบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนยังคงอยู่ในภาวะหดตัว ด้านศาลฮ่องกงมีคำสั่งให้บริษัทเอเวอร์แกนด์ (Evergrande) เข้าสู่กระบวนการการขายสินทรัพย์เพื่อชำระหนี้ (Liquidation) ส่งผลให้ตลาดกังวลว่าคำสั่งดังกล่าวจะส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ของจีน นอกจากนี้ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 26 ม.ค. 67 ปรับเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 421.9 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 0.2 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งมีความตึงเครียดขึ้น ภายหลังอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ของกองกำลังติดอาวุธที่หนุนโดยอิหร่านได้โจมตีฐานทัพของสหรัฐฯ ในจอร์แดน ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการณ์ GDP ทั่วโลกในปี 67 เป็น 3.1% อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อเศรษฐกิจจีน