เวสต์เทกซัส 78.03 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เบรนท์ 82.86 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (16 ก.พ. 67) ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 1% จากการอ่อนค่าของสกุลเงินสหรัฐฯ
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา
+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1% จากดัชนีค่าเงินสหรัฐฯ ที่อ่อนตัวลง 0.3% แตะระดับ 104.26 หลังยอดการค้าปลีกของสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 67 ปรับตัวลดลง 0.8% ซึ่งลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ มี.ค. 66 ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้าเพื่อผยุงเศรษฐกิจ
+ อิสราเอลยังคงใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้าโจมตีกลุ่มฮามาสอย่างต่อเนื่องโดยล่าสุดมีรายงานว่ามีการโจมตีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกาซ่าซึ่งอิสราเอลอ้างว่ามีกลุ่มนักรบฮามาสซ่อนตัวอยู่และอาจมีศพตัวประกันชาวอิสราเอลอยู่ภายในด้วยด้วย แต่โฆษกกลุ่มฮามาสออกมาปฏิเสธเรื่องดังกล่าว
- สำนักงานพลังงานสากล (IEA) เผยรายงานอุปสงค์น้ำมันดิบโลกจะขยายตัวเพียง 1.22 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลงจากตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ที่ 1.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่อุปทานน้ำมันดิบจะขยายตัวที่ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวันจากที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ตลาดยังถูกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยในอังกฤษและญี่ปุ่น โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอังกฤษในไตรมาส 3/2566 และ 4/2566 หดตัวลง 0.1% และ 0.3% ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับในญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอยเมื่อช่วงปลายปี 2566 ส่งผลให้ญี่ปุ่นสูญเสียสถานะการเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกให้กับเยอรมนี และกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลกแทน
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จาก อุปสงค์การใช้น้ำเบนซินของสหรัฐฯ ปรับลดลงกว่า 0.64 ล้านบาร์เรลแตะระดับ 8.17 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตามตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นของมาเลเซียในช่วงเดือน เม.ย. 67
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปสงค์น้ำมันดีเซลในภูมิภาคที่อ่อนตัวหลังสิ้นสุดเทศกาลตรุษจีน อย่างไรก็ตาม อุปสงค์น้ำมันดีเซลมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงไตรมาส 2 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ท่ามกลางอุปทานที่ตึงตัวจากฤดูการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในภูมิภาค