MONEY AND STOCK MARKET REVIEW วันที่ 29 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2567
เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ขณะที่หุ้นไทยย่อตัวลง ช่วงท้ายสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
• เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 เดือนที่ 35.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังประธานธนาคาร
กลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณอาจลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนก.ย. นี้
เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ท่ามกลางแรงหนุนหลักๆ จาก 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การแข็งค่าของสกุลเงินเอเชียในภาพรวม นำโดย เงินเยนที่แข็งค่าขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปที่ 0.25% (จาก 0.00-0.10%) พร้อมกับวางแนวทางการทยอยลดวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นในระยะข้างหน้า ซึ่งสะท้อนสัญญาณในเชิงคุมเข้มต่อเนื่อง 2) การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกที่มีแรงหนุนเพิ่มเติมจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และ 3) สถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ
ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดันเกือบตลอดทั้งสัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ปรับลดลง โดยเฉพาะหลังจากการประชุมเฟด ซึ่งถ้อยแถลงของประธานเฟดสะท้อนความเป็นไปได้ว่า เฟดอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. เป็นอย่างเร็ว หากเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังคงมีทิศทางชะลอตัว
• ในวันศุกร์ที่ 2 ส.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 เดือนที่ 35.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 ก.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 29 ก.ค.-2 ส.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 1,647 ล้านบาท แต่มีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 22,331 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 22,333 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 2 ล้านบาท)
• สัปดาห์ถัดไป (5-9 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.80-35.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.ค. และปัจจัยทางการเมืองของไทย รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM และ PMI ภาคบริการเดือนก.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคบริการเดือนก.ค. ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน และอังกฤษ ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจจีนในเดือนก.ค. อาทิ ข้อมูลการส่งออก ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
• ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์ก่อนจะลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์
หุ้นไทยขยับขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีปัจจัยหนุนหลักๆ จากความหวังเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในช่วงเดือนก.ย. การปรับเกณฑ์ของกองทุน TESG ซึ่งถูกคาดหมายว่า จะช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นไทย รวมถึงแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและพลังงาน หลังจากผลประกอบการไตรมาส 2/2567 ของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และบริษัทด้านพลังงานรายใหญ่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ตลาดหุ้นไทยขยับขึ้นต่อหลังเสร็จสิ้นการประชุมเฟด ซึ่งแม้เฟดมีมติคงดอกเบี้ย แต่ก็ได้ส่งสัญญาณสะท้อนว่าอาจมีการปรับลดดอกเบี้ยในเดือนก.ย. ตามตลาดคาดการณ์
อย่างไรก็ดีหุ้นไทยลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ ตามภาพรวมหุ้นต่างประเทศที่ปรับตัวลงจากความกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่การย่อตัวลงของหุ้นไทยถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับหุ้นภูมิภาคและยังคงยืนอยู่เหนือแนว 1,300 จุดได้ต่อเนื่อง
• ในวันศุกร์ที่ 2 ส.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,313.08 จุด เพิ่มขึ้น 0.45% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 39,969.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.73% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.71% มาปิดที่ระดับ 322.56 จุด
• สัปดาห์ถัดไป (5-9 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,300 และ 1,290 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,325 และ 1,335 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.ค. ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ประเด็นการเมืองในประเทศ ผลประกอบการไตรมาส 2/2567 ของบจ.ไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลนำเข้าและส่งออกเดือนมิ.ย. ดัชนี ISM และ PMI ภาคบริการเดือนก.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนก.ค. ของจีน ญี่ปุ่น ยูโรโซนและอังกฤษ ดัชนีราคาผู้ผลิตและยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย. ของยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ค.ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค และตัวเลขการส่งออก