เวสต์เทกซัส 73.52 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เบรนท์ 76.81 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (5 ส.ค. 67) ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง หลังตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ ต่ำกว่าคาด
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคาน้ำมัน
(-) ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส และ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวลดลง หลังสหรัฐฯ เผยอัตราการว่างงานเดือน ก.ค. 67 ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปีที่ระดับ 4.3% ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับลดลง 114,000 ตำแหน่ง ในเดือน ก.ค. 67 น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 176,000 ตำแหน่ง สะท้อนตลาดแรงงานที่ซบเซาและการจ้างงานที่ชะลอตัว บ่งชี้ถึงสภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจกดดันความต้องการใช้น้ำมันได้
(-) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเดือน ก.ค. 67 ของจีน ยุโรปและสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงมาต่ำกว่า 50 บ่งชี้สภาวะเศรษฐกิจหดตัว สะท้อนความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันได้
(-) ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบมายังเอเชียปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีจากความต้องการใช้น้ำมันในประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่อย่างจีนและอินเดียที่ชะลอตัวลง โดยตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบเดือน ก.ค. 67 อยู่ที่ 24.88 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับตัวลดลง 6.1% เทียบเดือนก่อนหน้า
(+) Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 2 ส.ค. 67 ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ระดับ 482 แท่น ขณะที่แท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติปรับลดลง 3 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 98 แท่น
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในเกาหลีใต้ปรับเพิ่มขึ้นจากการกักตุนน้ำมันก่อนยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษีน้ำมันเบนซินในเดือน ส.ค. 67 อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากตัวเลขการส่งออกน้ำมันเบนซินของจีนที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณสต็อกน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานสิงคโปร์ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ก.ค. 67 ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 11.35 ล้านบาร์เรล แตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน อย่างไรก็ดี อุปทานน้ำมันดีเซลมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้นจากตัวเลขการส่งออกน้ำมันดีเซลจากจีนในเดือน ส.ค. 67 ที่คาดจะปรับลดลงจากโควตาการส่งออกที่จำกัด