Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 30 September 2024
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเหตุความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ตึงเครียดมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนและการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 65-75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 68-78 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (30 ก.ย. - 4 ต.ค. 67)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากความกังวลเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและฮิซบัลเลาะห์ที่ตึงเครียดมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดคาดการณ์ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของจีนรวมถึงเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยสนับสนุนความต้องการใช้น้ำมันให้ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ราคายังมีแนวโน้มอ่อนลงได้หลังสถานการณ์ความไม่สงบในลิเบียมีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐฯ และยูโรโซนที่อ่อนแอยังคงสะท้อนความต้องการใช้น้ำมันที่ยังไม่ดีนัก
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
• สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางมีแนวโน้มตึงเครียดมากขึ้นภายหลังตลาดคาดว่าอิสราเอลได้เปลี่ยนศูนย์กลางการทำสงครามจากฉนวนกาซาไปยังเลบานอนเป็นที่เรียบร้อย โดยล่าสุดกองทัพอากาศอิสราเอลขยายวงโจมตีไปสู่น่านฟ้ากรุงเบรุต รวมถึงมีการโจมตีเครื่องยิงจรวด ศูนย์บัญชาการ และโครงสร้างพื้นฐานกว่า 1,300 แห่งในเลบานอน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ การยกระดับความรุนแรงครั้งนี้ส่งผลให้ตลาดกังวลเรื่องความเสี่ยงต่อโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันดิบในบริเวณตะวันออกกลางมากยิ่งขึ้น
• ตลาดจับตาทิศทางเศรษฐกิจจีนภายหลังธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (24-25 ก.ย. 67) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เติบโตตามเป้าหมายที่ 5% ในปี 67 โดยมีมาตรการที่สำคัญต่างๆ อาทิ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะกลาง การปรับลดอัตราส่วนกันเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) การปรับลดอัตราเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับอสังหาฯ มือสอง และจัดสรรเงินกู้ระยะยาว ทั้งนี้ ตลาดคาดการณ์ว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจจีนบางส่วนฟื้นตัวได้มากขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งจะกระตุ้นความต้องการใช้น้ำมันในประเทศให้ปรับเพิ่มขึ้น
• สำหรับทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตลาดจับตาถ้อยแถลงของเฟดเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ โดยล่าสุดผลสำรวจ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักกว่า 60% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ในเดือน พ.ย. เนื่องจากตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 98.7 ในเดือน ก.ย. แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและตลาดแรงงาน อย่างไรก็ดี ประธานเฟดสาขา Minneapolis ได้กล่าวสนับสนุนการตัดสินใจของเฟดว่าเป็นวิธีการถูกต้อง เพื่อปรับสมดุลนโยบายทางการเงินและเศรษฐกิจจากปัจจัยเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อลดลง ทั้งนี้ ตลาดคาดอัตราเงินเฟ้อที่ระดับต่ำลงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และหนุนอุปสงค์น้ำมันให้เติบโตมากขึ้นได้
• อย่างไรก็ดี ตัวเลขของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่ออกมาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังน่ากังวลเนื่องจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 67 ลดลงแตะระดับ 47.0 ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของยูโรโซนเดือน ก.ย. 67 ลดลงแตะระดับ 44.8 บ่งชี้ภาวะหดตัวเศรษฐกิจหดตัวเช่นกัน
• ด้านสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในลิเบียมีแนวโน้มคลายกังวลมากขึ้นเนื่องจากรัฐบาลลิเบียฝั่งตะวันออกและตะวันตกได้ลงนามในข้อตกลงแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารกลางลิเบีย ส่งผลให้ความกังวลเรื่องความขัดแย้งยุติลงและคาดว่าหากกองกำลัง LNA ได้ยกเลิกการปิดแหล่งผลิตน้ำมันดิบภายในประเทศ จะทำให้ตัวส่งออกน้ำมันดิบลิเบียในเดือน ก.ย. ที่ก่อนหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับปกติที่ประมาณ 1.1-1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า
• ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่จาก JOLTS เดือน ส.ค. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเดือน ก.ย. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการเดือน ก.ย. อัตราการว่างงานเดือน ก.ย. และการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือน ก.ย. เศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ อัตราการว่างงานเดือน ส.ค. ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ย. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเดือน ก.ย. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการเดือน ก.ย. และเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเดือน ก.ย. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการเดือน ก.ย.
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (23 - 27 ก.ย. 67)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 3.74 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 68.18 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.51 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 71.98 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 72.61 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปอย่างดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้น และยอดขายบ้านใหม่สหรัฐฯ ก็ปรับตัวลดลงปรับตัวลดลงเมื่อเทียบเดือนก่อนหน้านี้ รวมถึงผลกระทบของพายุเฮอร์ริเคน Helene ที่เคลื่อนตัวบริเวณอ่าวเม็กซิโกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแหล่งผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ราคายังได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮิซบัลเลาะห์ตึงเครียดมากขึ้น ด้านสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 20 ก.ย. 67 ปรับลดลง 4.5 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 413 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1.4 ล้านบาร์เรล แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี