Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 28 October 2024

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 28 October 2024

ราคาน้ำมันดิบยังถูกกดดันต่อเนื่อง จากความพยายามเจรจาหยุดยิงในตะวันออกกลาง ท่ามกลางการจับตาการเลือกตั้งสหรัฐฯ ขณะที่แรงซื้อจากจีนคาดว่าจะเพิ่มขึ้น

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 66-76 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 71-81 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 28 October 2024

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (28 ต.ค. - 1 พ.ย. 67)

ราคาน้ำมันดิบยังคงถูกกดดันต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดคลายกังวลต่อผลกระทบอุปทานน้ำมันดิบจากความพยายามในการเจรจาหยุดยิงในตะวันออกกลาง ขณะที่ตลาดจับตาโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะจัดขึ้นวันที่ 5 พ.ย. 67 อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันดิบจีนปรับเพิ่มจากโรงกลั่นใหม่จีนได้รับการจัดสรรโควตานำเข้าน้ำมันดิบเพิ่ม ขณะทีธนาคารแห่งชาติของจีนประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดี นอกจากนี้สต็อกน้ำมันทั่วโลกคาดอยู่ในภาวะขาดแคลนในไตรมาส 4

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

•    ตลาดคลายกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ นาย Antony Blinken พบกับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล นาย Benjamin Netanyahu เพื่อฟื้นฟูการเจรจาหยุดยิงในฉนวนกาซา หลังอิสราเอลสังหารผู้นำกลุ่มฮามาส นาย Yahya Sinwar เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ทำให้ตลาดคลายกังวลต่อผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบมากขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงจับตาความเคลื่อนไหวของสงครามนี้ หลัง CNN เผยสหรัฐฯ ตรวจพบข้อมูลรั่วไหลว่านายกรัฐมนตรีอิสราเอล นาย Benjamin Netanyahu มีแผนโจมตีตอบโต้อิหร่าน ประกอบไปด้วยแผนการเคลื่อนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ของอิสราเอล รวมถึงสรุปแผนการฝึกซ้อมของกองทัพอากาศอิสราเอล และการใช้มิสไซล์โจมตีทางอากาศ


 

•    ตลาดจับตาโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะจัดขึ้นวันที่ 5 พ.ย. 67 โดยผลสำรวจล่าสุดระบุ คามาลา แฮร์ริส ตัวแทนพรรคเดโมแครต ขึ้นนำโดนัลด์ ทรัมป์ อยู่ประมาณ 3 จุด ทั้งนี้ยังคงมีความไม่แน่นอนว่าฝ่ายไหนจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่ดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับกลุ่มสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 104.42 ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค. 67  โดยค่าเงินสหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นอาจส่งผลกดดันความต้องการใช้น้ำมันดิบและไม่น่าดึงดูดใจต่อผู้ซื้อที่ถือสกุลเงินอื่นได้

•    แรงซื้อจากจีนคาดว่าจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากกระทรวงพาณิชย์จีนจัดสรรโควต้าการนำเข้าน้ำมันดิบให้แก่โรงกลั่นเอกชนในปี 2568 อยู่ที่ระดับ 257 ล้านตัน หรือคิดเป็น 5.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าปีในปี 2567 อยู่ที่ 243 ล้านตัน จากโรงกลั่นแห่งใหม่ Shandong Yulong Petrochemical โดยได้ดำเนินการเปิดดำเนินการหน่วย Crude Distillation Unit No.1 เมื่อปลายเดือน ก.ย. 67 ทั้งนี้ โควต้านำเข้าน้ำมันดิบสำหรับแต่ละโรงกลั่นในรอบที่ 1/68 จะประกาศภายในสิ้นปี 2567 ทั้งนี้โกลด์แมนแซคส์ เผยความต้องการน้ำมันของจีนเพิ่มขึ้นประมาณ 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ก่อน สู่ระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน

•    ตลาดได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนเนื่องจากธนาคารแห่งชาติของจีนประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดี ระยะเวลา 1 ปี และ 5 ปี ลดลง 0.25% มาอยู่ที่ 3.10% และ 3.60% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดอุปสงค์น้ำมันของจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด จากจำนวนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ลดลง

 


 

•    สต็อกน้ำมันทั่วโลกอยู่ในภาวะขาดแคลนในไตรมาส 4 ซึ่งคาดพยุงราคาในระยะสั้น ทั้งนี้สต็อกน้ำมันปิโตรเลียมทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 1.24 พันล้านบาร์เรลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ลดลง 5 ล้านบาร์เรลจากปีก่อนหน้า ขณะที่ Norwegian Offshore Directorate ของนอร์เวย์รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. 67 ลดลง 11% เทียบกับเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 1.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อให้สอดคล้องกับการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในประเทศ

•    ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค. 67 อัตราการจ้างงานเดือน ก.ย. 67 อัตราการว่างงานเดือน ต.ค. 67 และตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 3 เศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 3 ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ต.ค. 67 และอัตราการว่างงานเดือน ต.ค. 67 และเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเดือน ต.ค. 67

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (21 ต.ค. – 25 ต.ค. 67)

•    ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.56 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 71.78 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.99 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 76.05 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 73.57 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันดิบจีนยังคงอ่อนแอจากเศรษฐกิจที่ยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยเป็นการเติบโตที่ช้าที่สุดตั้งแต่ช่วงต้นปี 66 ขณะที่ผลผลิตจากการกลั่นน้ำมันดิบจีนปรับลดเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความต้องการใช้น้ำมันดิบจีนที่ลดลง นอกจากนี้สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.5 ล้าน บาร์เรล สู่ระดับ 426 ล้านบาร์เรล  โดยปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.27 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางเนื่องจากอิสราเอลโจมตีทางอากาศบริเวณเมือง Ozai, Jinah และ Haret Hreik  ทางตอนใต้ของกรุง Beirut ในเลบานอน โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 ราย และบาดเจ็บอย่างน้อย 24 ราย ทั้งนี้ การโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากกองทัพอิสราเอลเตือนให้ประชาชนในกรุง Beirut อพยพออกจากพื้นที่