MONEY AND STOCK MARKET REVIEW วันที่ 28 ตุลาคม -1 พฤศจิกายน 2567
เงินบาทอ่อนค่าสุดรอบ 7 สัปดาห์ ขณะที่หุ้นไทยปิดใกล้เคียงสัปดาห์ก่อน
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
• เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนต่อเนื่องในช่วงโค้งสุดท้ายนับถอยหลังสู่วันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับภาพรวมของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค นำโดยเงินเยนซึ่งเผชิญแรงขายท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในญี่ปุ่น สวนทางกับเงินดอลลาร์ฯ ที่ได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกแข็งค่าในช่วงกลางสัปดาห์โดยได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ของราคาทองคำในตลาดโลก
เงินบาทกลับมาอ่อนค่าอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ โดยทาสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 7 สัปดาห์ที่ 33.92 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงขายทากาไรทองคาในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังคงแข็งค่าขึ้นท่ามกลางมุมมองของตลาดที่ประเมินความเป็นไปได้ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้ (The Trump Trade)
• ในวันศุกร์ที่ 1 พ.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (25 ต.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 28 ต.ค.-1 พ.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 9,644 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 4,892 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 4,890 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 2 ล้านบาท)
• สัปดาห์ระหว่างวันที่ 4-8 พ.ย. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.50-34.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (5 พ.ย.) ผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟด (6-7 พ.ย.) ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ โดยเฉพาะค่าเงินหยวน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ย. ดัชนี PMI/ISM ภาคบริการเดือนต.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นสำหรับเดือนพ.ย. นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม BOE (7 พ.ย.) รวมถึงดัชนี PMI ภาคบริการเดือนต.ค. ของจีน อังกฤษ ญี่ปุ่น และยูโรโซนด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
• หุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนระหว่างสัปดาห์ แต่กลับมาปิดใกล้เคียงระดับปิดสัปดาห์ก่อน
หุ้นไทยปรับตัวลงช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ตามแรงขายทำกำไรของนักลงทุนระหว่างรอปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นตลาด นำโดย กลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งจากผลประกอบการไตรมาส 3/2567 ที่ออกมาน่าผิดหวัง อย่างไรก็ดีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นแรงในเวลาต่อมาซึ่งสวนทางตลาดหุ้นภูมิภาค โดยมีแรงหนุนหลักๆ จากความหวังต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าจีดีพีไทยปีหน้าจะโตได้ 3%
หุ้นไทยย่อตัวลงเล็กน้อยช่วงท้ายสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนมีความระมัดระวังระหว่างรอติดตามข้อมูลตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ช่วงปลายสัปดาห์นี้ ตลอดจนผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และผลการประชุมเฟดในสัปดาห์หน้า
• ในวันศุกร์ที่ 1 พ.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,464.17 จุด เพิ่มขึ้น 0.05% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,425.26 ล้านบาท ลดลง 16.85% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.33% มาปิดที่ระดับ 338.22 จุด
• สัปดาห์ถัดไป (4-8 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,450 และ 1,435 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,475 และ 1,490 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ การประชุมเฟด (6-7 พ.ย.) ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของไทยผลประกอบการไตรมาส 3/2567 ของบจ.ไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคบริการเดือนต.ค. ตัวเลขนำเข้าและส่งออกเดือนก.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOE ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนต.ค. ของยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน รวมถึงตัวเลขการส่งออกเดือนต.ค. ของจีน