เวสต์เทกซัส 68.70 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล เบรนท์ 72.56 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล
วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (15 พ.ย. 67) ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังสต็อกน้ำมันสำเร็จรูปของสหรัฐฯ ลดลง ชดเชยความกังวลเรื่องอุปทานล้นตลาดได้
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา
(+/-) ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันสำเร็จรูปลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ อย่างไรก็ตาม น้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 8 พ.ย. 67 ปรับเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 429.7 ล้านบาร์เรล
(-/+) รายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน พ.ย. 67 ของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ปรับเพิ่มคาดการณ์การผลิตน้ำมันสหรัฐฯ เฉลี่ยปีนี้เป็น 13.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิม 13.22 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดการณ์การผลิตปีหน้าที่ 13.53 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงเล็กน้อยจากคาดการณ์ก่อนหน้า 13.54 ล้านบาร์เรลต่อวัน
(-/+) ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ (CPI) เดือน ต.ค. 67 ปรับตัวขึ้น 0.2% ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.6% สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ ทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. 67
(-) รายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน พ.ย. 67 ของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดการณ์อุปทานน้ำมันทั่วโลกจะเกินความต้องการในปี 2568 ที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมีการปรับลดอุปสงค์และปรับเพิ่มอุปทาน แม้ว่ากลุ่ม OPEC+ จะยังคงลดการผลิตอยู่ก็ตาม แต่อุปทานที่เพิ่มจะมาจากสหรัฐฯ และผู้ผลิตภายนอกรายอื่นๆ
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 4.4 ล้านบาร์เรล สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 206.9 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม คาดว่าความต้องการนำเข้าน้ำมันเบนซินของมาเลเซียจะลดลง หลังโรงกลั่นในมาเลเซียกลับมาดำเนินการตามปกติภายในเดือนนี้
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นสูงขึ้นกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังการส่งออกน้ำมันดีเซลของจีนยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้อุปทานในภูมิภาคเอเชียไม่ได้รับแรงกดดันมากนัก และทำให้ค่าการกลั่นในเอเชียเริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่าโรงกลั่นในภูมิภาคเอเชียจะกลับมาผลิตเพิ่มขึ้นในเดือน ธ.ค. 67 หลังสิ้นสุดการซ่อมบำรุง