มุมมองกฎหมายสหรัฐ : เมื่อ Ether อาจเป็นหลักทรัพย์

มุมมองกฎหมายสหรัฐ : เมื่อ Ether อาจเป็นหลักทรัพย์

ผู้เขียนขออัปเดตเรื่องราวการอัปเกรดของเครือข่าย Ethereum ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2565ที่ผ่านมา อันเป็นการส่งผลให้เหรียญ Ether อาจมีคุณลักษณะเป็น “หลักทรัพย์” (Securities) ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายสหรัฐฯ และต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. สหรัฐ

เกิดอะไรขึ้นกับ Ether : จาก POW เป็น POS

เครือข่าย Ethereum ได้ทำการอัปเกรดระบบ The Merge ได้สำเร็จ อันเป็นการส่งผลให้ระบบเปลี่ยนกลไกการทำงานจาก “Proof-of-Work” (PoW) เป็น Proof-of-Stake (PoS) ซึ่งความแตกต่างของสองระบบ 

คือ ระบบ PoW จะใช้กลไกการแก้โจทย์หรือถอดรหัสทางคณิตศาสตร์ที่ระบบกำหนดขึ้นเพื่อหาค่าสมการที่ถูกต้องโดยผู้ใช้งานที่อยู่บนระบบบล็อกเชนประเภทนี้มักเรียกกันว่า “นักขุด” ซึ่งนักขุดทุกคนจะมีสิทธิเข้าร่วมในระบบ PoW ทุกราย

อย่างไรก็ดี Ether กำลังจะเปลี่ยนระบบการทำงานจาก PoW เป็น PoS ทำให้หลักการทำงานในข้างต้นจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง 

ระบบใหม่ : Proof-of-Stake ของ Ether

ระบบ Proof-of-Stake หรือ PoS  คือ การใช้อัลกอริธึมสร้าง Consensus บนบล็อกเชน โดยไม่ใช้ระบบการแก้สมการอย่าง PoW แต่ใช้ระบบ “การวางสินทรัพย์ค้ำประกันหรือ Stake เหรียญไว้ในระบบ เพื่อแลกกับสิทธิ์ในการตรวจสอบและยืนยันธุรกรรม

และด้วยกลไกเช่นนี้ ระบบ POS จะทำการเลือกสุ่มผู้ตรวจสอบ (Pseudo-random Election) เพียงคนเดียวที่มีสิทธิในการยืนยันการทำธุรกรรมให้ผู้ใช้คนเดียวต่อหนึ่งบล็อก และทุกครั้งที่มีการ Validate ธุรกรรม จะส่งผลเป็นการสร้างบล็อกใหม่บนบล็อกเชน และมีการได้รับผลตอบแทนเป็นเหรียญหรือค่าธรรมเนียมในลักษณะต่าง ๆ ตามที่กำหนดจากการทำธุรกรรมบนบล็อกนั้น  

โดยในทางปฏิบัติ ระบบ PoS เช่นว่านี้ มักเลือกใช้สินทรัพย์ดิจิทัล (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคริปโทเคอร์เรนซี) เพื่อช่วยให้นักลงทุนสามารถล็อกหรือเก็บโทเคนดิจิทัลของนักลงทุนในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อรอรับผลตอบแทน

กฎหมายหลักทรัพย์และการคาดหวังผลตอบแทน

จากการศึกษาหลักการ PoS ในข้างต้น พบว่า การเปลี่ยนระบบดังกล่าว ได้สร้างข้อเท็จจริงใหม่ที่ว่า นักลงทุนมี “การคาดหวังผลตอบแทน” บางอย่างที่อาจเกิดขึ้นจากระบบ Staking ใหม่ของ Ether นอกจากนี้ ก.ล.ต. สหรัฐยังมองว่าศูนย์ซื้อขาย (Crypto exchange) ที่เสนอบริการ Staking ให้กับลูกค้า เป็นการบริการที่มีความใกล้เคียงกับการให้กู้ยืม 

และอาจมีลักษณะบางประการคล้ายกับการออกหลักทรัพย์ประกอบด้วย ดังนั้น หากพิจารณาตามบริบทของกฎหมาย ก.ล.ต. สหรัฐจะพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าธุรกรรมที่เอกชนดำเนินการนั้นมีลักษณะเป็นเป็น “สัญญาลงทุน” หรือ Investment contract หรือไม่ โดยพิจารณาควบคู่กับหลัก Howey test

มุมมองกฎหมายสหรัฐ : เมื่อ Ether อาจเป็นหลักทรัพย์

Howey test : การลงทุนที่คาดหวังผลกำไรตอบแทน            

กฎหมายสหรัฐนิยามคำว่า “หลักทรัพย์” ไว้ค่อนข้างกว้าง และเมื่อมีกิจกรรมเกี่ยวกับการเสนอขายและระดมทุนเกิดขึ้น หนึ่งในวิธีพิจารณาที่ ก.ล.ต.สหรัฐจะนำมาพิเคราะห์ว่า กิจกรรมดังกล่าวจะถูกกำกับดูแลตามกฎหมายหรือไม่

คือหลักการที่เรียกว่า Howey Test ซึ่งมีที่มาจากการตัดสินคดีของศาลฎีกาสหรัฐในการวางข้อพิจารณาเพื่อทดสอบว่าธุรกรรมที่เอกชนดำเนินการนั้นมีลักษณะเป็น “สัญญาลงทุน” หรือ Investment contract หรือไม่

หลักการสำคัญของ Howey Test ที่ศาลสูงสหรัฐได้วางแนวทางการพิจารณา Investment Contract หรือการพิจารณา “ความเป็นหลักทรัพย์” ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่

  • ธุรกรรมนั้นเป็นการลงทุนด้วยเงิน
  • เป็นการลงทุนกับองค์กรธุรกิจทั่วไป
  • เป็นการลงทุนที่คาดหวังผลกำไรตอบแทน
  • เป็นการลงทุนที่เป็นผลมาจากการดำเนินการของผู้อื่น หรือพูดง่ายๆ ว่า เราได้ลงทุนไปโดยมีผู้อื่นซึ่งอาจเป็นองค์กรธุรกิจนำเงินนั้นไปบริหารจัดการต่อ ซึ่งให้ความคาดหวังในการให้ผลกำไรตอบแทนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งกับนักลงทุน

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าที่ผ่านมา ก.ล.ต. สหรัฐ จะพิจารณาจากข้อเท็จจริงของกิจกรรมเป็นหลักหากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้เสนอขายหรือระดมทุนด้วยสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง

ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไร หรือสินทรัพย์นั้นจะมีชื่อเรียกในทางเทคนิคอย่างไร กิจกรรมนั้น ก็อาจมีลักษณะเป็นการออกหลักทรัพย์ตามความของกฎหมายได้ โดย Ether ภายใต้ระบบ PoS นั้นจึงมีลักษณะหลายประการอันอาจถูกพิจารณาเป็น “หลักทรัพย์” ภายใต้กฎหมายของสหรัฐได้

  • ผลจากการเป็นหลักทรัพย์

กฎหมายที่ใช้กำกับสินทรัพย์ดิจิทัลของสหรัฐมีลักษณะเป็น Principle-based Approach คือ การกำหนดมาตรฐานหรือหลักการพื้นฐานมากกว่าการบัญญัติในลักษณะของ Technology-based Approach

ดังนั้น หากระบบ PoS หรือระบบบล็อกเชนใด ๆ ที่ใช้สร้างหรือออกเหรียญแล้วมีลักษณะเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ก็จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กลไกกำกับดูแลตามกฎหมาย 

ดังนั้น แพลตฟอร์ม นายหน้า หรือแอปพลิเคชันที่อำนวยความสะดวกในการซื้อขายเหรียญดังกล่าว อาจต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. สหรัฐ เพื่อปกป้องและคุ้มครองผลประโยชน์ของนักลงทุน และต้องมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจตามที่กฎหมายกำหนด

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่าการใช้เทคโนโยลีไม่ว่าในรูปแบบใด เพื่อออกหรือสร้างเหรียญ แต่แท้จริงแล้วเป็นการเลียนแบบ Traditional finance ในรูปแบบเดิม จะมีให้เห็นมากขึ้นในโลกดิจิทัล และเป็นสิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลควรติดตามอย่างใกล้ชิด.