กระแสแฮก "คริปโทฯ"แรง รู้ 3 วิธีรับมือ 4 รูปแบบการลงทุนที่ควรระวัง
กระแสแฮก "คริปโทฯ" แรง รู้ 3 วิธีรับมือ 4 รูปแบบการลงทุนที่ควรระวัง ในยุคที่การเงินดิจิทัลพัฒนาไปอย่างก้าวหน้า พร้อมกับเทคโนโลยี ที่ต้องยอมรับว่ายังมีช่องว่างที่ทำให้ “นักต้มตุ๋น” หรือ “แฮกเกอร์” ใช้ประโยชน์จากนักลงทุนคริปโทฯ สู่การโจรกรรมทางไซเบอร์
ตามรายงานของบริษัทรักษาความปลอดภัยบล็อกเชน PeckShield เผยข้อมูลชี้ให้เห็นว่า เดือนต.ค.65 เป็นเดือนที่แพลตฟอร์ม DeFi โดนแฮกมากที่สุดจากการเจาะช่องโหว่ถึง 44 ครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อโปรโตคอล 53 รายการ โดยแฮกเกอร์สามารถนำเงินไปได้ 760.2 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท
สัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด กล่าวว่า การป้องกันคริปโทฯแกรมที่ดีที่สุดคือ การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีจากทั้งข้อมูลที่เผยแพร่ และจากนักวิเคราะห์ในวงการ
วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” จึงมาแบ่งปัน วิธีที่จะรักษารหัส และกระเป๋าเงินคริปโทฯ ของคุณให้มีความปลอดภัยอยู่เสมอ
1.ศึกษาข้อมูลก่อนลงทุน
การศึกษาข้อมูลก่อนลงทุนเป็นการระวังความเสี่ยงที่ดีที่สุดทั้งเข้าใจโปรเจกต์คริปโทฯ ที่ถูกสร้างขึ้น และทราบถึงระดับความปลอดภัยของเหรียญเชน หรือกระเป๋าเงินนั้นๆ
โดยปัจจุบันการเลือกรับข้อมูลในการนำมาประกอบการตัดสินใจมีหลายช่องทาง เช่น นักวิเคราะห์ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือสำนักข่าวเองที่ช่วยกระจายข้อมูลต่างๆ และหน่วยงานกำกับดูแลเฉพาะด้าน ในอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
2.ตรวจสอบความปลอดภัยของลิงก์
ในอินเทอร์เน็ตมีลิงก์ที่ปรากฏขึ้นอยู่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมีลิงก์มากมายทำให้ก่อนคลิกลิงก์ใดๆ จะต้องทราบถึงที่มาที่ไปเพื่อตระหนักถึงความปลอดภัยเป็นหลัก
3.ตั้งรหัสให้แข็งแรง
การตั้งรหัสผ่านควรมีความซับซ้อน และไม่ควรนำข้อมูลส่วนตัวมาตั้งเป็นรหัสผ่านรวมทั้งในแต่ละแพลตฟอร์มควรใช้รหัสผ่านที่แตกต่างกัน เพราะหากแฮกเกอร์สามารถไขปริศนารหัสได้ส่วนหนึ่ง จะถือเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกทุกแพลตฟอร์มของคุณด้วย ซึ่งควรจะมีการเปลี่ยนแปลงรหัสทุกๆ 3 เดือน
รูปแบบการลงทุนที่ควรระวัง
- NFT Scams
NFT (Nonfungible Tokens) ถือเป็นอีกหนึ่งกระแสที่ได้รับความสนใจในตอนนี้ โดยทั่วไปแล้ว NFT ไม่จำกัดว่าต้องเป็นงานศิลปะเท่านั้น แต่อาจรวมถึงเอกสารเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย รถยนต์ หรืออะไรก็ได้ หากมีคนชอบ และยินดีจ่ายเงินซื้อ ก็สามารถทำเงินให้เจ้าของได้
นี่เองที่ทำให้ NFT ตกเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของแฮกเกอร์ วิธีการแฮก NFT ที่กำลังเกิดขึ้น และอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นมีหลายแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
- ระวัง คริปโทฯ Air drop
อีกหนึ่งช่องทางที่นักลงทุนมักจะหลงเชื่อ เมื่อการแอร์ดรอปจะได้เหรียญคริปโทเคอร์เรนซีกลับคืนมา โดยปกติแล้วการแอร์ดรอปเป็นหนึ่งรู้แบบการตลาดของเหล่าโปรเจกต์แพลตฟอร์ม ที่จะต้องเชื่อมต่อกระเป๋าเงินคริปโท เคอร์เรนซีทำให้แฮกเกอร์สามารถรู้ที่อยู่กระเป๋าเงินของคุณได้ ดังนั้นก่อนจะรับแอร์ดรอปจากโปรเจกต์ใด ควรที่จะตรวจสอบความปลอดภัยให้ดี
- DeFi rug pulls
rug pull คือ กลวิธีการโกงรูปแบบหนึ่งที่พบได้มากบนระบบ DeFi โดยหลอกให้เอาเงินมาลงทุนไว้ในแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล หรือ DEX (Decentralized Cryptocurrency Exchange) จากนั้นก็เอาเงินโอนออกไปจนหมด โดยตรวจสอบหรือติดตามไม่ได้ว่าสุดท้ายเงินที่หายไปนั้นไปอยู่ในกระเป๋าใคร
สาเหตุที่เกิด rug pulls บนแพลตฟอร์ม DEX มากนั้นก็เพราะระบบดังกล่าวเปิดรับผู้ใช้งานทุกคน และไม่มีการตรวจสอบ ทำให้เหล่าแฮกเกอร์ใช้เป็นช่องทางเข้ามาหาเงินได้ง่าย
- Fake ICOs
ICOs (Initial Coin Offerings) คือ การระดมทุนอย่างหนึ่ง มักใช้กับบริษัทขนาดเล็กหรือสตาร์ตอัป วิธีการก็คือองค์กรมีแผนพัฒนาหรือสร้างสินค้า บริการ หรือแอปพลิเคชันขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง โดยออกเหรียญขายให้กับคนที่สนใจ และเห็นว่าโปรเจกต์นั้นจะประสบความสำเร็จ (ในที่นี้ก็คือ นักลงทุน) หากนักลงทุนสนใจก็ซื้อเหรียญ ICOs ด้วยการจ่ายเหรียญคริปโต
ข้อดีของ ICOs คือ ขั้นตอนไม่ซับซ้อน และระดมทุนจากนักลงทุนได้ทุกพื้นที่ทั่วโลกที่ระบบอินเทอร์เน็ตเข้าถึง แน่นอนว่านี่เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่แฮกเกอร์เลือกทำ ซึ่งมีหลายรูปแบบ ได้แก่
Exit Scams หลอกเอาเงินมาแล้วหายไปเลย, Bounty Scams หลอกล่อนักลงทุนว่าหากร่วมลงทุนด้วยจะได้รับผลตอบแทนที่ดี, Whitepaper Plagiarism ก๊อปปี้ whitepaper ของโครงการอื่นมาอ้างเป็นของตัวเอง, URL Scams สร้างเว็บไซต์ปลอม โดยทำทีว่าจะพัฒนาโปรเจกต์บางอย่าง เพื่อหลอกล่อให้คนมาร่วมทุน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์